Monday, June 30, 2008

แบงก์ชาติส่งสัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจ'ชะลอตัว'

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ถึงตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2551
มีประเด็นสำคัญดังสรุปได้ดังต่อไปนี้

การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพ.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 6.3 (YoY) หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ในเดือนเม.ย. โดยเป็นผลจากการชะลอลงในรายการหลัก ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 8.4 จาก 12.2) และการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค (เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 17.5 จาก 29.1) โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่คงทน

ในขณะที่ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์หดตัวลงมากขึ้นในเดือนพ.ค. (หดตัวร้อยละ 4.3 จากที่หดตัวเพียงร้อยละ 1.7) ซึ่งสวนทางกับปริมาณการบริโภคพลังงานทดแทน เช่น LPG และ NGV ที่เร่งตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านรายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่องอีกร้อยละ 62.8 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนีราคาพืชผลขยายตัวร้อยละ 28.0 (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.8 ในเดือนก่อนหน้า) ในขณะที่ดัชนีผลผลิตพืชผลขยายตัวร้อยละ 27.2 (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.3 ในเดือนก่อนหน้า) นำโดยผลผลิตข้าวนาปรัง

การลงทุนภาคเอกชน เดือนพ.ค. ขยายตัวร้อยละ 5.0 ลดลงจากร้อยละ 5.4 ในเดือนเม.ย. โดยเป็นผลจากการชะลอลงของการนำเข้าสินค้าทุน (เพิ่มเพียงร้อยละ 5.4 จาก 17.7) และยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (หดตัวร้อยละ 3.8 จากที่ขยายตัวร้อยละ 8.2) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาพลังงาน

ขณะที่ มูลค่าโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนหดตัวลงร้อยละ 19.7 ในเดือนพ.ค. จากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 45.1 ในเดือนเม.ย. การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 10.5 ในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.9 ในเดือนเม.ย. โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะ Hard Disk Drive (ขยายตัวร้อยละ 42.0 จาก 31.9) ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตนั้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับร้อยละ 74.4 ในเดือนพ.ค.จาก 69.2 ในเดือนเม.ย.

ภาคต่างประเทศ การส่งออกขยายตัวร้อยละ 22.1 (YoY) ในเดือนพ.ค. ชะลอลงจากร้อยละ 28.7 ในเดือนเม.ย. โดยเป็นผลจากการขยายตัวทางด้านราคาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การส่งออกในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าใช้เทคโนโลยีสูงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง (ร้อยละ 21.2 และร้อยละ 19.0 จากร้อยละ 26.0 และร้อยละ 25.1 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม การส่งออกในหมวดเกษตรยังคงขยายตัวได้ดี โดยขยายตัวร้อยละ 57.8 ในเดือนพ.ค. ซึ่งใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า

การส่งออกในหมวดสินค้าที่เน้นใช้แรงงานขยายตัวสูงถึงร้อยละ 39.2 ตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนการนำเข้าในเดือนพ.ค. ขยายตัวร้อยละ 15.7 ลดลงจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 42.1 ในเดือนเม.ย. โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของปริมาณการนำเข้าเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จากผลของการบันทึกข้อมูลเหลื่อมเดือนทำให้ปริมาณการนำเข้าในหมวดเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นหดตัวลงถึงร้อยละ 30.0 ในเดือนพ.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 26.9 ในเดือนก่อนหน้า

การชะลอลงอย่างมากของมูลค่าการนำเข้าในทุกหมวด ส่งผลให้ดุลการค้าพลิกกลับมาบันทึกยอดเกินดุลที่ 1.27 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ค. หลังจากที่ขาดดุลที่ระดับ 1.77 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเม.ย. ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกกลับมาบันทึกยอดเกินดุลเช่นกันที่ 631 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ค. หลังจากที่ขาดดุล 1.66 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า
จากตัวเลขต่าง ๆ ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นภาพเศรษฐกิจไทยที่เริ่มสะท้อนสัญญาณการชะลอตัวเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2/2551 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2551 อาจมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 5.0 ซึ่งชะลอลงหลังจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.0 ในไตรมาส 1/2551

โดยประเด็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามในระยะถัดไปประกอบด้วย การปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงาน การทะยานขึ้นของอัตราเงินเฟ้อซึ่งอาจเป็นเลขสองหลักบางเดือนในไตรมาสที่ 3/2551 ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะถัดไป อาจสร้างข้อจำกัดให้การดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ต้องโน้มเอียงไปในเชิงคุมเข้มมากขึ้น แหล่งข้อมูล