Tuesday, June 17, 2008

3G (third generation of mobile phone)

จากอนาล็อกในยุคแรก พัฒนาสู่ยุคดิจิทัล มาถึงจีเอสเอ็ม และกำลังเข้าสู่ยุคล่าสุด 3G (third generation) ยักษ์มือถือตั้งตารอกันมานาน รอแล้วรอเล่าเฝ้าแต่รอ "กทช." อนุมัติคลื่นความถี่ (2.1 จิกะเฮิรตซ์) พร้อมไลเซนส์ใหม่
"เอไอเอส" ล่าสุด (9 เม.ย. 2551) เปิดตัวบริการ 3G บนคลื่น 900 MHz เริ่มที่ "จีเอสเอ็ม แอดวานซ์" ก่อน ใช้ชื่อว่า "3GSM Advance" เป็นบริการโทรศัพท์มือถือ 3G บนมาตรฐาน WCDMA (Wide Band CDMA) รองรับการใช้งานรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงสุดถึง 7,200 กิโลบิตต่อวินาที เร็วกว่า GPRS และ EDGE เดิมถึง 45 เท่า (ทางทฤษฎี)

จากปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในบ้านเรา 15 ล้านคน เป็นบรอดแบนด์แค่ 1 ล้านเท่านั้น เพราะคนไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว มีข้อจำกัดหลายด้าน เมื่อมีมือถือ 3G จะง่ายและเร็วขึ้นมาก หากดูจำนวนผู้ใช้มือถือจะเห็นว่ามีมากกว่า 50 ล้านคนแล้ว อ่านรายละเอียด

อนาคตมือถือ 3G

ขณะนี้ภาครัฐมีนโยบายแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการเปิดให้บริการระบบ 3G โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการสามารถพัฒนาระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิมได้ ซึ่งคาดว่าผู้ให้บริการทั้งหมดจะสามารถเปิดให้บริการระบบ 3G ได้ภายในปีนี้ โดยจะเป็นบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายผ่านเทคโนโลยี HSPA
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าผู้ให้บริการจะมีการลงทุนพัฒนาโครงข่ายไปสู่ระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิมในปีนี้รวมประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากยังต้องรอความชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์และกำหนดการในการออกใบอนุญาตให้บริการระบบ 3G จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก่อน หลังจากนั้นจึงจะลงทุนพัฒนา 3G อย่างเต็มรูปแบบบนคลื่นความถี่ใหม่ ซึ่งคาดว่าผู้ให้บริการแต่ละรายจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่าประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาประมาณ 5 ปี โดยคาดว่าจะแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก หลังการลงทุนในระยะแรก ผู้ให้บริการคงต้องพิจารณาการตอบรับของตลาดก่อนที่จะลงทุนในระยะต่อไป ซึ่งอาจส่งผลให้ระยะเวลาการลงทุนที่ประเมินไว้ข้างต้นเปลี่ยนแปลงไปได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าระบบ 3G จะสร้างประโยชน์ใน 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง จะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมมีโอกาสเติบโตสูงขึ้นจากผลของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารและโทรคมนาคมที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น
สอง ช่วยให้ธุรกิจโดยตรงและเกี่ยวเนื่องมีโอกาสเติบโต โดยคาดว่าหากตลาดตอบรับกับระบบ 3G เป็นอย่างดี จะทำให้ภายในประมาณปี 2553 ผู้ให้บริการระบบจะมีรายได้จากบริการ Non-Voice เพิ่มสูงขึ้นจนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด จากเดิมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 สำหรับธุรกิจเครื่องลูกข่ายก็คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นจากยอดขายเครื่องลูกข่ายที่รองรับระบบ 3G โดยคาดว่าสัดส่วนของยอดขายของโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน และพีดีเอ ที่รองรับระบบ 3G จะเพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของยอดขายทั้งหมด จากเดิมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 นอกจากนี้ ระบบ 3G ยังช่วยให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ มีโอกาสเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะบริการคอนเทนท์ใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเกิดมากขึ้น
สาม ผู้บริโภคจะได้รับโอกาสการเข้าถึงการใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบางพื้นที่ที่สายโทรศัพท์พื้นฐานเข้าไปไม่ถึง หรือในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องความเร็วของการให้บริการอินเตอร์เน็ต

สำหรับความพร้อมของผู้ใช้บริการยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ให้บริการ เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้บริการ Non-Voice หลัก มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด รวมทั้งความเข้าใจในเทคโนโลยีของคนไทยยังจำกัดอยู่ในเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น ตลอดจน Content ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก ไม่สะดวก และไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุด
ทั้งนี้ ศูนย์ขอเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาระบบ 3G ได้แก่ ผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้จัดจำหน่ายเครื่องลูกข่าย และผู้ให้บริการคอนเทนท์ต้องร่วมกันพัฒนาให้มีความหลากหลายและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ง่ายต่อการใช้งานและเข้าถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ได้ โดยเครื่องลูกข่ายที่สามารถรองรับกับระบบ 3G ควรมีราคาที่ไม่สูงมากนัก เพื่อให้ผู้บริโภคในทุกระดับมีโอกาสในการเข้าถึงระบบ 3G ได้
และภาครัฐจะต้องควบคุมดูแลการแข่งขันในตลาดและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในระบบ 3G อย่างทั่วถึง เป็นธรรม และโปร่งใส ไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ให้บริการแต่ละราย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตให้บริการในระบบ 3G ก็ควรอยู่บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่สูญเสียผลประโยชน์ แต่ก็ต้องจูงใจให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนพัฒนาระบบ 3G แหล่งข้อมูล