จับตาผลโหวตของคณะมนตรีความมั่นคง ยูเอ็น ที่จะตัดสินว่าจะจัดประชุมฉุกเฉินปัญหาเรื่องไทย-กัมพูชาหรือไม่ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ 'เขมร' แจกใบปลิวเรียกร้องปชช.ต้านสินค้า-บริการไทย 'อาเซียน' ยกเลิกความพยายามไกล่เกลี่ยปมพระวิหาร หลังไทยยันควรแก้ในระดับทวิภาคี
พรุ่งนี้ยูเอ็นจะโหวตตัดสินจัดประชุมฉุกเฉินถกปมไทย-เขมรหรือไม่
นายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูต และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ กล่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ว่า ไทยได้ส่งหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้ง 15 ชาติแล้ว เพื่อยืนยันเจตนารมย์ของไทยที่จะยุติข้อพิพาทกับกัมพูชาผ่านการเจรจาระดับทวิภาคี โดยเราได้ส่งหนังสือดังกล่าวหลังจากกัมพูชาได้ยื่นเรื่องขอให้สหประชาชาติเข้ามาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทกับไทยเรื่องชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร
นายดอน กล่าวต่อว่า กัมพูชาต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเรื่องนี้ในวันจันทร์ที่ 28 ก.ค. แม้ทางการไทยคัดค้าน อย่างไรก็ตาม ไทยจะพิจารณาการดำเนินการต่อไปโดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
"คณะมนตรีความมั่นคงจะจัดประชุมพรุ่งนี้ และเราจะดูว่าจะมีมติจัดการประชุมฉุกเฉินตามการเรียกร้องของกัมพูชาหรือไม่ เราจะรอดูปฏิกริยาของสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงและนัยสำคัญใดๆ ซึ่งจะกระทบต่อไทย" นายดอนกล่าว และว่า ไทยไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของกัมพูชาตั้งแต่ต้น เพราะวิตกว่าอาจบั่นทอนความเป็นเอกภาพของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
'กัมพูชา'แจกใบปลิวเรียกร้องปชช.ต้านสินค้า-บริการไทย
มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ว่า พ.ต.อ.ทัช นาโรธ ผู้บัญชาการตำรวจกัมพูชา กล่าวถึงกรณีพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชา เรื่องปราสาทพระวิหาร และมีรายงานว่า มีการแจกใบปลิวในกรุงพนมเปญ เพื่อเรียกร้องให้คว่ำบาตรสินค้าและบริการของไทย ส่งผลให้ตำรวจกัมพูชาต้องเร่งสอบสวนหาที่มาของใบปลิว ว่า ทางการกัมพูชาไม่ต้องการเห็นการกีดกันสินค้าไทย และไม่ต้องการเห็นประชาชนถูกปลุกระดมด้วยวิธีนี้ ในช่วงที่รัฐบาลกำลังหาทางคลี่คลายข้อขัดแย้งกับประเทศไทย
ส่วนกรณีที่กัมพูชาพยายามร้องขอคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เข้าแทรกแซงนั้น นายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูตไทยประจำองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า เป็นแผนการของกัมพูชา ที่ไม่ได้ต้องการแค่ปราสาทพระวิหารเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการพื้นที่ทับซ้อนที่ติดกับแนวพรมแดนไทยทั้งหมดด้วย
นายดอน กล่าวต่อว่า กัมพูชาพยายามบังคับให้ไทยยอมรับแผนที่ที่ปักปันเขตแดนที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ร่างขึ้น ในยุคล่าอาณานิคม ขณะที่ไทยกลับต้องการให้ใช้แผนที่อีกชุดที่ร่างขึ้นในภายหลัง โดยมีเจ้าหน้าที่ของสหรัฐคอยช่วยเหลือทางเทคนิค
'อาเซียน'ยกเลิกความพยายามไกล่เกลี่ยปมพระวิหาร
เมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม นายกัล คิม ฮอน ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา คาดหวังว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะนำข้อพิพาทพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เข้าหารือในที่ประชุม โดยระบุว่า การที่อาเซียนไม่สามารถแทรกแซงด้วยการจัดตั้งคอนแทกต์ กรุ๊ป (Contact Group) เพื่อดูแลปัญหานี้ได้ ทำให้กัมพูชาต้องขอความช่วยเหลือจากคณะมนตรีความมั่นคงฯ
มีรายงานว่า ขณะนี้รัฐมนตรีอาเซียนเริ่มกลับไปสนใจปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค ก่อนที่จะมีการประชุมเออาร์เอฟ (ARF) ร่วมกับประเทศคู่เจรจา 16 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และสหภาพยุโรป ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ค.) และยกเลิกความพยายามเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา หลังจากไทยยืนยันว่า ต้องการแก้ไขปัญหาในระดับทวิภาคี
ขณะที่มีรายงานว่า สหรัฐฯ ชื่นชมอาเซียนว่าเป็นองค์กรที่ประเทศผู้มีปัญหาสามารถพึ่งพิงแก้ไขปัญหาได้ แม้ที่ผ่านมาอาเซียนจะไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา เนื่องจากยังยึดมั่นในข้อตกลงไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิก
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี ว่า ไม่รู้สึกวิตกต่อการที่ไทยจะเป็นประธานกลุ่มอาเซียน แม้กำลังเผชิญปัญหาข้อพิพาทกับกัมพูชา อีกทั้งยังไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งในชาติสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งกลุ่มอาเซียน มีประสบการณ์ด้านการทูตในภูมิภาค จึงมั่นใจได้ว่าไทยจะไม่ทำให้ชาติสมาชิกผิดหวัง
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ระบุว่า ผู้แทนไทยยืนยันกับชาติสมาชิกว่า จะปฏิบัติหน้าที่ประธานอาเซียนอย่างมืออาชีพ
'สมัคร'ระบุให้'กัมพูชา'เล่นไปก่อน เชื่อหลังเลือกตั้งสงบ
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ถึงปัญหาระหว่างไทยและกัมพูชา ว่า ตอนนี้เป็นเรื่องของกัมพูชา เราจะเปิดโอกาสให้กัมพูชาเล่นข้างเดียวไปก่อน โดยที่ไทยไม่จำเป็นต้องเล่นตาม ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้แล้ว นอกจากนี้ คิดว่ายังไม่จำเป็นโทรศัพท์คุยกับสมเด็จฯ ฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ตอนนี้ เพราะตนเชื่อว่า ภายหลังการเลือกตั้งในประเทศกัมพูชาจบลงแล้ว ความขัดแย้งจะเบาบางลงและจะสามารถพูดคุยกันง่ายขึ้น ซึ่งตนขอยืนยันว่า ตอนนี้ประเทศไทยไม่ได้มีอะไรเสียหาย
นายสมัคร กล่าวว่า จะต้องคุยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในจังหวะที่เหมาะสม ทั้งนี้ ตนต้องการหลีกเลี่ยงการตอบโต้เรื่องนี้รายวัน เพราะอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งตนมั่นใจว่าจะสามารถรักษาดินแดนไทยได้แน่นอน โดยจะอธิบายเรื่องนี้ให้ฟังในรายการ 'สนทนาประสามัคร'
'บัน คี มุน'วอนไทย-เขมรต้องอดกลั้น แก้ปม'พระวิหาร'
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกต่อกรณีข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามใช้ความอดกลั้นและอดทน
แถลงการณ์ของเลขาธิการยูเอ็น ระบุเพิ่มเติมว่า หวังว่าปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจะสามารถคลี่คลายด้วยสันติวิธีและช่องทางการทูต
'จำลอง'จี้รบ.ปิดชายแดนเขมร ชี้ไทยศักยภาพเหนือกว่า
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงจุดยืนเกี่ยวกับปัญหาระหว่างไทยและกัมพูชา กรณีพื้นที่ทับซ้อนเขาพระวิหาร โดยการสั่งปิดพรมแดนไทยและกัมพูชา ลาออกจากยูเนสโก้ และชี้แจงกับประเทศและหน่วยงานต่างๆ ว่าประเทศไทยได้ยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทยและกัมพูชา กรณีรับรองการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างประเทศที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
'ต้องไปฟังเขา (กัมพูชา) เรื่อย เขาเป็นคนกำหนดว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่เรามีศักยภาพเหนือกว่าเขา ที่เป็นทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวอย่างที่เราทราบว่า เป็นเพราะมีเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาแอบแฝง ดังนั้น ถ้ารักชาติเสียอย่าง ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น' พล.ต.จำลอง กล่าว
พล.ต.จำลอง กล่าวต่อว่า ขณะนี้ไม่มีใครต้องการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ฝ่ายการเมืองต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้
'มาร์ค' ชี้ยูเอ็นไม่จำเป็นต้องเข้าคลี่คลายปมพระวิหาร
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเมื่อ 23 ก.ค. ถึงกรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร ระหว่างไทย - กัมพูชา เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ว่า เมื่อทั้งสองประเทศยืนยันว่าจะใช้แนวทางสันติวิธี ก็ไม่ควรนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่เวทีอื่นๆ อีก และประเทศไทยต้องชี้แจงให้สหประชาชาติ ทราบว่า ประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาก็เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน และในกลุ่มประเทศอาเซียนก็มีท่าทีชัดเจนว่าสามารถบริหารจัดการได้ในระดับทวีภาคี ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่สหประชาชาติต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง และเห็นว่ารัฐบาลต้องทำหนังสือชี้แจงต่อนานาประเทศให้รับทราบในการรักษาสิทธิ์ของตัวเองและมีความพร้อมที่จะร่วมเจรจากับกัมพูชา
ทั้งนี้ เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะยกระดับเรื่องนี้เข้าสู่ศาลโลก แต่ได้เสนอแนะรัฐบาลแล้วว่า ต้องทำงานหนักในการรุกทางการทูตในเวทีระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า หากรัฐบาลสามารถชี้แจงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะทำให้นานานประเทศมั่นใจว่ากรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร จะสามารถแก้ไขได้ในระดับทวิภาคี โดยรัฐบาลต้องมีความชัดเจน จริงจัง ตั้งแต่ผู้นำและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนปี 2505
'ปองพล'จี้'หมัก'ตั้งรมว.บัวแก้ว-เพิ่มรมช.อีกตำแหน่ง
นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการมรดกโลกประจำประเทศไทย กล่าวเมื่อ 23 ก.ค. ถึงกรณีที่กัมพูชาจะยื่นขอให้สหประชาชาติ(ยูเอ็น) หารือด่วนกรณีความพิพาทพื้นทับซ้อนบริเวณปราสาทเขาพระวิหารไทย-กัมพูชาว่า เป็นการฉวยจังหวะที่ไทยยังไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องเร่งแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อผลักดันนโยบาย และต้องมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ มาช่วยทำหน้าที่ด้วย เพราะภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศค่อนข้างมาก รวมถึงต้องระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อร่วมแก้ไข และกำหนดให้มีท่าทีแต่ละขั้นตอนทั้งกรณีที่กัมพูชาจะยื่นฟ้องต่อยูเอ็น หรือฟ้องศาลโลกก็ตาม และต้องอาศัยขอบข่ายในต่างประเทศที่มาในการช่วยกัน เพื่อให้ทันต่อเกมที่กัมพูชาดำเนินการ
นายปองพล คาดด้วยว่า หลังการเลือกตั้งในกัมพูชาแล้วการเจรจาน่าจะดีขึ้น แต่ปัญหาภายในไทยอาจจะส่งผลต่อการทำงานได้ จึงอยากเรียกร้องให้เกิดเอกภาพขึ้นภายในประเทศ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มที่
'สมัคร'ไม่แสดงจุดยืน'พระวิหาร' บอกเป็นหน้าที่'บัวแก้ว'
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ว่า ไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาชายแดนไทยและกัมพูชา บริเวณเขาพระวิหาร เพราะกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่กัมพูชาจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นั้น ถือเป็นเรื่องของกัมพูชา
เมื่อถามว่า จะต้องพูดคุยเรื่องนี้กับสมเด็จฯ ฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา หรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศจะกำหนดท่าทีดังกล่าว และไม่ขอแสดงความเห็นกรณี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ
ทูตไทยยอมรับยูเอ็นรับปมพระวิหาร เป็นวาระฉุกเฉินแล้ว
นายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เช้าวันนี้ (23 ก.ค.) โดยยอมรับว่า ล่าสุดทางองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ได้บรรจุคำร้องของกัมพูชาที่ต้องการให้สหประชาชาติเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทปัญหาเขาพระวิหารเป็นวาระฉุกเฉินแล้ว ขณะที่ทางกัมพูชาพยายามรวบรัดดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามข้อบังคับของยูเอ็น ที่เมื่อมีประเทศร้องเรียนปัญหาเข้ามา ก็สามารถเรียกประชุมฉุกเฉินได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยไม่คาดคิดมาก่อน โดยขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด กำลังหาแนวทางเพื่อกำหนดท่าทีที่ชัดเจนของไทย
ทั้งนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรงในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว มีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ โดยมีจีน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา รัสเซียและอังกฤษ เป็นสมาชิกถาวร และอีก 10 ประเทศจะหมุนเวียนกันไป โดยขณะนี้มีประเทศเวียดนาม เป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียเพียงประเทศเดียว ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งไทยมีความหวังจากท่าทีของเวียดนามในขณะนี้ที่ยังวางตัวเป็นกลางในเรื่องนี้อยู่
มทภ. 2 ยันเสริมกำลังทหารเพิ่มหลังมีข่าวเขมรเพิ่มรถถัง
พลโทสุจิตร สิทธิประภา แม่ทัพภาคที่2 เปิดเผยที่กองทัพภาคที่ 2 อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา เมื่อ 23 ก.ค. ภายหลังรับมอบเครื่องอุปโภคบริโภคจากสโมสรไลอ้อนโคราชไปช่วยทหารไทยที่ตรึงกำลังอยู่บริเวณเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ ถึงความคืบหน้าสถานการณ์บริเวณชายแดนเขาพระวิหารว่าขณะนี้กำลังทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณชายแดนเขาพระวิหารมีขวัญและกำลังใจที่เข้มแข็งมีความอดทนขอให้ประชาชนชาวไทยไม่ต้องเป็นห่วงส่วนกรณีที่วันหยุดสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้จะมีกลุ่มมวลชนเดินทางไปชุมนุมและอาจเกิดการปะทะกันอีกครั้งนั้นทางกองทัพภาคที่2 ได้ประสานงานกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษและตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาในการดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันซ้ำอีกตอบข้อถามการที่มีข่าวว่าฝ่ายกัมพูชาเสริมกำลังรถถังเข้ามาในพื้นที่เขาพระวิหารนั้นทางกองทัพภาคที่2 ได้เสริมกำลังเพิ่มเติมหรือไม่ พลโทสุจิตรฯ ตอบว่าในการปฏิบัติงานก็จะมีข่าวว่าทางฝ่ายกัมพูชามีการเพิ่มเติมกำลังซึ่งในส่วนของกองทัพภาคที่ 2ก็จะต้องดำเนินการในภาระหน้าที่ของทหารที่จะต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน
โดยได้ดำเนินการเพื่อประกันความสำเร็จในหน้าที่ของทหารทั้งนี้ในส่วนของกำลังพลในพื้นที่ได้มีการปฏิบัติงานร่วมกับทางฝ่ายทหารของกัมพูชาจึงทำให้มีความสนิทสนมและรู้จักมักคุ้นกันดีซึ่งในระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ทั้งสองฝ่ายสามารถพูดคุยตกลงกันได้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปะทะกันเกิดขึ้นทั้งนี้การที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด บอกว่าการที่ฝ่ายกัมพูชานำกรณีเขาพระวิหารไปฟ้องต่อสหประชาชาติทำให้ความขัดแย้งยุติลงยากนั้นตนคิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องแก้ไขปัญหาและไปทำความเข้าใจกับต่างชาติส่วนเรื่องการซ้อมหลบภัยของประชาชนในพื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้นก็เป็นการเตรียมการณ์กรณีที่อาจเกิดมีการปะทะกันเกิดขึ้นซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการเตรียมพร้อมผู้สื่อข่าวถามว่า ทางรัฐบาลควรจะแต่งตั้งรมว.ต่างประเทศโดยเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาเขาพระวิหารหรือไม่ แม่ทัพภาคที่ 2ได้อมยิ้มและหัวเราะ โดยบอกว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะดำเนินการ
'กุเทพ'ค้านเขมรดึงยูเอ็นร่วมเจรจา ชี้เป็นปัญหา2ปท.
ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญนายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และนายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการมรดกโลกประจำประเทศไทย มาให้ข้อมูลเรื่องปราสาทพระวิหารมาให้ข้อมูล เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมองว่า สถานการณ์ขณะนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองและหลังเลือกตั้งในกัมพูชา วันที่ 27 กรกฎาคมนี้ สถานการณ์จะดีขึ้น และกรรมาธิการต่างประเทศของไทยจะรอหารือกับคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของกัมพูชา เพื่อหาทางออกร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ร.ท.กุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่กัมพูชาส่งจดหมายให้สหประชาชาติเข้ามาช่วยเจรจานั้น ไม่เห็นด้วย เพราะในฐานะประเทศเพื่อนบ้านควรจะมีการเจรจาแบบทวิภาคี เพราะถือว่าเป็นปัญหาระหว่างสองประเทศจึงไม่ควรให้เวทีนานาชาติเข้ามากดดัน
ร.ท.กุเทพ กล่าวต่อว่า ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรัฐบาลยังไม่มีรมว.ต่างประเทศคนใหม่นั้น เรื่องนี้คงไม่เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะรัฐบาลมีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการเจรจาที่ไม่คืบหน้า เพราะกัมพูชาอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ด้วยเช่นกัน
ผบ.สส. แนะผู้นำ 2 ประเทศหารือแก้ข้อพิพาท
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แนะผู้นำ 2 ประเทศหารือแก้ปัญหาพิพาทปราสาทพระวิหาร พร้อมเตือนไทยหากต้องขึ้นศาลโลก ให้ใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากมีบทเรียนในอดีต
พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวก่อนเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการระดับสูงที่ประเทศอินโดนีเซีย ถึงกรณีพิพาทปัญหาปราสาทพระวิหาร ระหว่างไทย-กัมพูชาว่า จะใช้โอกาสนี้ชี้แจงทำความเข้าใจกับอินโดนีเซีย ยืนยันว่าการหารือระดับทวิภาคียังเป็นช่องทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหานี้ แต่หากการหารือคณะกรรมการชายแดนทั่วไป หรือ จีซีบี ไม่เป็นผล ก็ควรให้ผู้นำระดับสูง 2 ประเทศหารือ เนื่องจากมีอำนาจตัดสินใจ และหากกัมพูชาจะนำกรณีพื้นที่ทับซ้อนขึ้นศาลโลก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ไทยต้องระวังเพราะมีบทเรียนจากอดีตมาแล้ว แต่ไทยก็มีสิทธิเลือกจะขึ้นศาลโลกคู่กัมพูชาหรือไม่ก็ได้
ผู้บัญการทหารสูงสุด กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศต้องเร่งชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อนานาชาติ โดยขณะนี้จำนวนทหารไทยในพื้นที่มีน้อยกว่าทหารกัมพูชา จึงไม่น่าหวั่นวิตกต่ออธิปไตยหรือการเสียบูรณภาพแห่งดินแดนตามที่กัมพูชาชี้แจงต่อนานาชาติ ทั้งนี้ในการประชุมจีซีบี ไทย-กัมพูชา ยืนยันว่าจะไม่มีการเพิ่มกำลังทหารในพื้นที่ ขณะเดียวกันตนเองก็ได้กำชับไม่ให้ทหารไทยกระทำการใดๆ เป็นเหตุจุดชนวนให้สถานการณ์ตึงเครียด
นักวิชาการชี้ปัญหาการเมืองภายใน ชนวน'พระวิหาร'
นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า กรณีปัญหาปราสาทพระวิหารที่เกิดความขัดแย้งรุนแรง เป็นผลมาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ร้องขอให้ทุกคนช่วยกันหยุด ไม่ว่าใครก็ตามที่พยายามใช้กระแสชาตินิยมเพื่อให้เกิดความรุนแรง ต้องช่วยกันประณามไม่ให้การกระทำนี้เกิดขึ้น ควรใช้เวทีในการเจรจาอย่างสันติกับการแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรง
ทั้งนี้ นายสมชาย ยังระบุว่า การใช้ประเด็นค่านิยมมาปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดชังรัฐบาลและคนไทยด้วยกัน ซึ่งผู้ได้ประโยชน์ไม่ใช่สังคมส่วนรวม แต่เป็นกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่แสวงหาประโยชน์ให้กับตนเอง
เผย'ยูเอ็น'จะชี้ชัดรับไต่สวนกรณี 'ไทย-กัมพูชา' พรุ่งนี้
นายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ในรายการ 'ข่าวเช้า โมเดิร์นไนน์' ถึงกรณีข่าวที่ระบุว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะจัดประชุมฉุกเฉินกรณีข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเขาพระวิหาร ว่า เป็นความต้องการของกัมพูชาที่ต้องการให้สหประชาชาติประชุมฉุกเฉินในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ วันที่ 24 กรกฎาคมนี้ กระบวนการแรกในสหประชาชาติจะเริ่มขึ้น เพราะหนังสือของกัมพูชาจะเวียนถึง 15 ประเทศสมาชิก ซึ่งที่ประชุมก็จะพิจารณาดูว่า จะดำเนินการตามที่ร้องขอหรือไม่ ส่วนของประเทศไทยได้ทำหนังสือเวียนไปแล้วเช่นกัน โดยระบุว่าปัญหาดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายกำลังดูแลอยู่ และมีปัญหากันมานานแล้ว
นายดอน กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวสหประชาชาติจะรับไต่สวนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งประเทศไทยต้องติดตามผลดังกล่าวจึงจะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ หากมีประชุมจริง ผลจะเกิดประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แต่เราบอกแล้วตั้งแต่ต้นว่า ไม่อยากให้มีการประชุม เพราะเหมือนกระทบฐานของอาเซียน
เขมรร้องยูเอ็นประชุมฉุกเฉิน
ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวรายงานจากสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ว่า กัมพูชาเปิดฉากรุกทางการทูตครั้งใหญ่หลังการเจรจาในที่ประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีซีบี) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่ประสบผล โดยนอกจากสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะทำหนังสือฟ้องร้องไปยังสำนักงานองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) แล้ว ยังยื่นเรื่องไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้จัดการประชุมฉุกเฉิน ในเวลาเดียวกัน นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ยังเคลื่อนไหวยื่นเรื่องเรียกร้องให้อาเซียนจัดตั้งทีมไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และเชิญบรรดาทูตจากประเทศที่รับตำแหน่งอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงมาพบเพื่อแถลงกล่าวหาว่าไทยรุกรานดินแดนของตนอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวระบุว่า คณะผู้แทนไทยในการประชุมอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์พยายามหาทางออกในกรณีนี้ โดยขอหารือทวิภาคีเป็นกรณีพิเศษกับสิงคโปร์ ก่อนชี้แจงในที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันของรัฐมนตรีอาเซียนและประเทศคู่เจรจา
ตั้งป.ป.ช.ทั้งคณะไต่สวนครม.
วันเดียวกัน นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมการไต่สวนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะ กรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและ ส.ว. ยื่นขอให้ดำเนินคดีอาญาจากมติ ครม.ที่สนับสนุนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีเขาพระวิหาร โดยให้ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นผู้ดำเนินการไต่สวน และให้ น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน
หวังหลังเลือกตั้งเขมรคุยง่ายขึ้น
พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า กัมพูชาไม่ได้ขอให้มีการหารือหลังการเลือกตั้งวันที่ 27 กรกฎาคม ส่วนจะมีหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาของสองฝ่าย การหาข้อสรุปต่างๆ ของกัมพูชาขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาระดับบนมากๆ หากเขามีจุดยืนอย่างข้างต้น คงยากมาก คิดว่าปัญหายังไม่จบ และคงจะต้องหาคนมาพูดคุยเจรจากับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
เมื่อถามว่า นายกฯเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งน่าจะคุยกันรู้เรื่องมากกว่านี้ใช่หรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า รู้สึกว่าเชื่ออย่างนั้น แต่คิดว่าบรรยากาศต้องดีขึ้นแน่นอน เมื่อถามย้ำว่า เมื่อพรรครัฐบาลเขมรชนะเลือกตั้งยิ่งคุยกันได้ง่ายขึ้นใช่หรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า 'ผมว่าง่ายเลย น่าจะพูดกันได้ไม่ยาก เพราะต้องยอมรับว่ากัมพูชาเขาอ่อนไหวยิ่งกว่าของเรา อย่างเรื่องเส้นเขตแดน เพราะประชาชนของเขาคิดว่าประเทศกัมพูชาล้อมรอบด้วยประเทศใหญ่ที่รังแกเขา ทั้ง เวียดนาม และไทย ดังนั้น จึงอ่อนไหวในเรื่องเขตแดนตลอดเวลา'
จากนั้น พล.อ.บุญสร้างให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อีกครั้งว่า การหาข้อยุติไม่ได้มาจากพื้นฐานที่ทั้งสองประเทศใช้แผนที่คนละฉบับ โดยกัมพูชาใช้แผนที่ของฝรั่งเศส ขณะที่ไทยใช้ระบบสันปันน้ำของสหรัฐ และข้อที่ยอมไม่ได้คือ ถ้อยคำที่จะให้ตกลงกัน
'ไม่ใช่ว่า เขารับไม่ได้ ที่เราจะไปอ้างสิทธิทั้งหมด แค่เราอ้างว่ามีส่วนเขาก็รับไม่ได้ คำพูดในนั้นจะเป็นลักษณะอย่างนั้น เขาก็ไม่ยอม เราก็ไม่ยอม และคิดว่าไม่ล้มเหลว คือ มีความสบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายว่าทหารที่เผชิญหน้ากันอย่าให้เลวร้ายกว่านี้อีก และไม่ไปเพิ่มกำลังทหารเข้ามา' พล.อ.บุญสร้างกล่าว และว่า ตอนนี้คนไทยต้องใช้สติปัญญา อย่าใช้อารมณ์ หาทางออกอย่างสร้างสรรค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำหน้าที่ให้ดีและรอบคอบ เปิดเผย โปร่งใสต่อประชาชน แต่ปรากฏว่า งานนี้กลับตีกันเองทำให้แพ้ภัยให้กับต่างประเทศด้วย
ผบ.ทร.ชี้ไม่เกี่ยวพท.ทับซ้อนทะเล
ที่ราชนาวีสโมสร พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวว่า ปัญหานี้จะไม่กระทบกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพราะเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ต้องมีคณะกรรมการคุยกันอีกชุดหนึ่ง ทั้งนี้ พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีเยอะ เจรจากันมาโดยตลอด พื้นที่ทับซ้อนเป็นพื้นที่ใหญ่มีผลประโยชน์อยู่ เจรจากันมาหลายครั้งยังไม่ลงตัวเหมือนกัน แต่ไม่มีเรื่องขัดแย้งกัน คนละเรื่องกับเขาพระวิหาร
คาด'สหัส' นั่งเก้าอี้ 'บัวแก้ว'รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ คาดว่า นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี จะได้รับแต่งตั้งให้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แม้ว่านายวิกรม คุ้มไพโรจน์ จะมีประสบการณ์รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ แต่มีจุดอ่อนคือใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากเกินไป อาจมีปัญหาในการบริหารงานเหมือนนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีการต่างประเทศ
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายกฯควรจะเร่งปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีรัฐมนตรีการต่างประเทศโดยเร็ว เพื่อมาเร่งแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนรอบปราสาทพระวิหาร ขณะนี้เหมือนกับไทยไม่ได้กำหนดทิศทางภายในให้ชัดเจนจากฝ่ายนโยบายคือนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีการต่างประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายจะปฏิบัติลำบาก
วุฒิสภาเล็งตั้งกมธ.วิสามัญศึกษา
เมื่อเวลา 08.30 น. วุฒิสมาชิก 8 คน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ นำโดย ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต รองประธาน กมธ. และนายศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้เดินทางลงพื้นที่เขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ บรรยายสรุปสถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ตอนหนึ่งระบุว่า มีความเข้าใจผิดว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นที่ทับซ้อน แต่ในที่นี้ขอเรียกว่าเป็นพื้นที่ไทย แต่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนชัดเจน และข้อตกลงระหว่างประเทศกำหนดว่า ห้ามดัดแปลงสภาพภูมิประเทศในส่วนที่ไม่ทราบว่าพื้นที่เป็นของใครชัดเจน แต่ปี 2541 มีชาวบ้านกัมพูชาเข้ามาสร้างบ้าน ซึ่งผู้ว่าฯศรีสะเกษขณะนั้นทำหนังสือไปยังกระทรวงต่างประเทศเพื่อประสานให้กัมพูชาย้ายคนออกไป แต่ 4-5 ปีที่ผ่านมา มีชาวกัมพูชาอพยพเข้ามามากขึ้น จนถึงขณะนี้มีประมาณ 130 หลังคาเรือน และกำลังสร้างวัดแก้วสิขเรศวรอีกด้วย
ด้านนายศรีศักรได้เสนอให้ในพื้นที่เตรียมแผนไม่ให้มีการรุกเข้ามาบริเวณสระตราวและบาราย เพราะจุดนี้จะถือเป็นการยึดเมือง ส่วนนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เสนอว่า วุฒิสภาอาจมีการตั้ง กมธ.วิสามัญ เพื่อมาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ และเสนอให้รื้อบ้านเรือนของชาวกัมพูชาบริเวณนั้นออกไป จนกว่าจะปักปันเขตแดนแล้วเสร็จ
ทหารไม่ให้ 8 ส.ว.ขึ้นพระวิหาร
เวลา 14.00 น. คณะ ส.ว.ทั้ง 8 คน ได้เดินทางไปยังค่ายสุรนารีเพื่อฟังการบรรยายจากผู้แทนกองกำลังสุรนารี โดยไม่ยอมให้ผู้สื่อข่าวร่วมเข้าฟังด้วย จากนั้นคณะได้เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร โดยหยุดอยู่ที่ศูนย์ประสานงานนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นทางขึ้นผามออีแดง โดย ม.ร.ว.ปรียนันทนาได้พยายามขอร้องทหารให้พาขึ้นไปยังโบราณสถานโดยรอบที่อยู่ในดินแดนไทย เพื่อที่จะนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา แต่ฝ่ายทหารปฏิเสธ โดยอ้างว่าในบริเวณนั้นมีกองกำลังทหารประจำการในจุดต่างๆ ซึ่งเป็นความลับในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคง ไม่สามารถให้คนทั่วไปขึ้นไปได้ แม้แต่แม่ทัพภาคที่ 2 ยังขึ้นได้สูงสุดแค่จุดที่ ส.ว.อยู่เท่านั้น
แหล่งข้อมูล