Wednesday, July 16, 2008

6 มาตรการ 6 เดือน

นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวอย่างเป็นทางการภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึง “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน” เริ่มตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป และกินเวลาทั้งหมด 6 เดือน ดังนี้

1. การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลง โดยจะปรับภาษีสรรพสามิตแก๊สโซฮอล์ 91, 95 , E10, E20 และ E85 โดยมีการปรับลดภาษีสรรพสามิตลงลิตรละ 3.30 บาท เหลือลิตรละ 0.0165 บาท จากปัจจุบันที่จัดเก็บลิตรละ 3.3165 บาทต่อลิตร และหากรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าการตลาดแล้วจะทำให้ลดลงได้ลิตรละ 3.88 บาท เพื่อให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ มีส่วนต่างจากราคาน้ำมันเบนซินประมาณลิตรละ 8 บาท

ขณะที่น้ำมันดีเซล บี2 มีการลดภาษีสรรพสามิตลงลิตรละ 2.30 บาท เหลือลิตรละ 0.005 บาท หรือลดลงได้ลิตรละ 2.71 บาท และลดภาษีสรรพสามิตไบโอดีเซล บี 5 ลงลิตรละ 2.19 บาท เหลือลิตรละ 0.0048 บาท หรือลดลงได้ ลิตรละ 2.45 บาท ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ได้ในวันที่ 25 ก.ค. 51 เป็นต้นไป เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนของภาคการขนส่งในระยะสั้น ซึ่งในส่วนนี้จะใช่วงเงินประมาณ 32,000 ล้านบาท

2. ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน (LPG) ไปอีก 6 เดือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่จะมีการปรับราคาเป็น 2 โครงสร้าง

3. งดเก็บค่าน้ำประปาครัวเรือนที่ใช้ไม่ต่ำกว่า 50 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ครอบคลุมผู้ใช้น้ำทั้งประเทศ ประมาณ 3.2 ล้านราย ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำประปาเฉลี่ยต่อรายต่อเดือนประมาณ 213 บาทในเขตนครหลวง และประหยัดได้ 176 บาทในเขตภูมิภาค ใช้วงเงินประมาณ 3,930 ล้านบาท

4. งดเก็บค่าไฟ สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยต่อเดือน โดยภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ส่วนครอบครัวที่ใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 80 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่งของค่าไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งจะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศประมาณ 9.85 ล้านราย สามารถลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนเฉลี่ย 120 – 200 บาทต่อครัวเรือน ใช้วงเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท

5. จัดรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่เป็นรถโดยสารธรรมดา หรือ รถร้อน จำนวน 800 คัน จาก 1,600 คน ใน 73 เส้นทาง เพื่อให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และจะมีการติดป้ายบอกไว้ให้ประชาชนทราบ คาดว่าจะใช้วงเงิน 1,224 ล้านบาท

6. ใช้บริการโดยรถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศ ฟรีทั่วประเทศ ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 16 ล้านคน คาดว่าจะใช้วงเงิน 250 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทางรัฐจะเป็นฝ่ายช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่าย โดยหน่วยงานต่าง ๆ จะยังคงได้รับรายได้เช่นเดิม แต่รัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนให้โดยคาดว่า จะใช้เงินทั้งหมดประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท

น.พ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรอบการช่วยเหลือประชาชนครั้งนี้ คาดว่า จะมีครัวเรือนได้รับประโยชน์ประมาณ 9.8 ล้านครัวเรือน ลดค่าเดินทางได้ประมาณ 400-500 บาทต่อเดือน รวมลดค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อย 1,000 บาท/ครัวเรือน/เดือน

นอกจากนี้ยังเชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนได้อย่างแท้จริง และคาดว่าจะช่วยบรรเทาการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังได้ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 9 % และทั้งปีคาดว่าไม่เกิน 6-7% ส่วนรายได้จากการมาตรการลดภาษีสรรพมิตน้ำมัน ประมาณ 32,000 ล้านบาท เชื่อว่าผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จะทำให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ก็น่าจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ได้มากขึ้น จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 9,000 ล้านบาท

พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า ขอเวลาอีกประมาณ 7-9 วันในการเช็คสต็อกน้ำมันในคลังน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนและการกักตุนน้ำมัน ก่อนที่จะประกาศราคาขายปลีกที่ชัดเจนที่หน้าสถานีบริการน้ำมันทุกแห่งอีกครั้ง นอกจากนี้ในส่วนของชาวประมงที่ใช้น้ำมันม่วงอยู่ประมาณ 15 ล้านลิตรต่อเดือน ก็จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้เช่นกันโดยราคาน้ำมันจะลดลงประมาณ 2.70 บาทต่อลิตร

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้กับทาง ขสมก. จากการออกมาตรการนี้ประมาณ 1,400 ล้านบาท แหล่งข้อมูล