ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช นายกราชบัณฑิตยสถาน กล่าวระหว่างเปิดการประชุมนานาชาติ เรื่อง “นโยบายภาษาแห่งชาติ : ความหลากหลายของภาษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ” ตอนหนึ่งว่า เรื่องของภาษาเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และหลายประเทศจัดทำนโยบายภาษาขึ้นเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ ท่ามกลางความหลากหลายทางภาษาของภาษาในประเทศเหล่านั้น และพบด้วยว่า 125 ประเทศมีการระบุนโยบายภาษาไว้ในรัฐธรรมนูญ
ด้านนางจินตนา พันธุฟัก เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ราชบัณฑิตยสถานพยายามผลักดันให้มีการกำหนดนโยบายภาษาแห่งชาติขึ้น เพื่อให้ทิศทางการใช้ภาษาของประเทศมีความชัดเจนขึ้น ทั้งการใช้ภาษาไทย ภาษาของคนกลุ่มน้อย ภาษาต่างประเทศ ภาษาของผู้ใช้แรงงาน ภาษา เศรษฐกิจ ภาษาของผู้พิการ ภาษาเพื่อการแปลและล่าม ฯลฯ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปเพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาล ให้ผลักดันเป็นนโยบายชาติในระดับต่างๆต่อไป ทั้งนี้มีการวิจัยยืนยันว่า การเรียนรู้ภาษาแม่ของตนเองได้ก่อน จะเป็นบันไดให้เราสามารถเรียนรู้ภาษาอื่นต่อไปได้เป็นอย่างดี และยิ่งรู้ภาษามากเท่าใดก็จะยิ่งเกิดประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น
เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า สำหรับการใช้ภาษาไทยของคนไทยขณะนี้ก็ต้องยอมรับว่า คนไทยยังใช้ภาษาไทยไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น สิ่งที่ราชบัณฑิตยสถานจะดำเนินการคือ ก็จะจัดทำเกณฑ์มาตรฐานภาษาไทยขึ้น โดยจัดสร้างแบบทดสอบภาษาไทยขึ้นทดสอบความรู้ความสามารถการใช้ภาษาของคนไทย ทั้ง 4 ทักษะ ได้แก่ ฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งทดสอบในลักษณะเดียวกับการจัดสอบโทเฟลภาษาอังกฤษ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงการใช้ภาษาไทยและนำไปสู่การปรับปรุงภาษาไทยให้ดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น และคาดว่าปลายปี 2551 จะจัดทำแบบทดสอบภาษาไทยเสร็จเรียบร้อย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะเปิดให้มีการทดสอบความสามารถในการใช้ภาษาไทยคือ ครูอาจารย์และนักเรียน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ครูภาษาไทยจำนวนมากเมื่อทราบว่าราชบัณฑิตยสถานจะจัดทำแบบทดสอบภาษาไทย ก็เรียกร้องว่า อยากให้ผลการทดสอบนี้เชื่อมโยงกับการเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งเรื่องนี้ราชบัณฑิตยสถานจะประสานกับกระทรวงศึกษาธิการต่อไป แหล่งข้อมูล