Wednesday, April 16, 2008

ราคาน้ำมันในตลาดโลก

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อวันที่ 16 เมษายน ว่า ราคาน้ำมันโลกทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกรอบ ทะลุ 114 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรก จากการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยปิดตลาดที่ 114.08 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากที่ก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันดิบไลท์ สวีท ในนิวยอร์ก กำหนดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ดอลลาร์ไปอยู่ที่ 113.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์ ทะเลเหนือปรับเพิ่มไปทำระดับสูงสุดที่ 112.08 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 111.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ สาเหตุมาจากความวิตกกังวลว่า จะเกิดการขาดแคลนพลังงานรอบใหม่ หลังจากที่เม็กซิโก หนึ่งในผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ต้องระงับการส่งออกจากสถานีถึง 4 แห่ง เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้าย โดยเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเชลล์ ซึ่งมีปริมาณมากถึง 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน บวกกับความต้องการพลังงานดีเซลในจีน ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 49 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
นักวิชาการด้านน้ำมันและอดีตผู้บริหารบริษัทบางจาก กล่าวว่า ราคาน้ำมันขายปลีกในไทยสัปดาห์นี้มีแนวโน้มจะต้องปรับขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ราคาน้ำมันดิบและสำเร็จรูปตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลที่ผู้ค้าควรจะได้รับยังติดลบ 1.50-2 บาทต่อลิตร ส่วนเบนซินบวก 50-60 สตางค์ต่อลิตร ดังนั้น หากปีนี้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกแตะ 120 เหรียญต่อบาร์เรล โอกาสที่จะเห็นดีเซลแตะ 35 บาทต่อลิตร ภายในปีนี้ก็มีโอกาสสูงมาก แหล่งข้อมูล

ยูเนสโกเผย อาหารโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤต สินค้าเกษตรหลักประเภทข้าวปรับตัวสูง คนจนขาดแคลนหนัก ชี้เป็นเพราะผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ขณะที่ราคาน้ำมันยังพุ่งสูงต่อเนื่อง ทะลุ 114 ดอลล์ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เผยแพร่รายงานสถานการณ์เกษตรโลกในยุคปัจจุบันซึ่งใช้เวลาในการจัดทำนานกว่า 3 ปี โดยระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมเกษตรและการผลิตอาหารโลกจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่หากต้องการให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวระบุว่า อุตสาหกรรมการเกษตรมีส่วนรับผิดชอบต่อความเสื่อมโทรมของดินทั่วโลกถึง 1 ใน 3 ขณะที่ปัญหาวิกฤตด้านอาหารที่โลกกำลังเผชิญอยู่ อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารอย่างลึกซึ้งและยาวนาน หนทางที่จะช่วยได้คือการปรับเปลี่ยนรากฐานของกฎเกณฑ์และรูปแบบของการทำเกษตรในโลกยุคใหม่ทั้งหมด
รายงานฉบับนี้ซึ่งใช้เวลาจัดทำนานกว่า 3 ปีและมีผู้มีส่วนร่วมในรายงานมากถึง 300 คนทั้งนักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่รัฐ นักเคลื่อนไหว และผู้แทนภาคธุรกิจ โดยได้รับความสนับสนุนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ)และธนาคารโลก ชี้ว่าสถานการณ์เกษตรในปัจจุบันไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมอีกต่อไป ความจำเป็นของการปรับเปลี่ยนรากฐานการผลิตก็เพื่อให้อุตสาหกรรมเกษตรยุคใหม่สามารถตอบสนองต่อคนยากจนและความอดอยากหิวโหยได้ หากโลกต้องรับมือกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พร้อมกับหลีกเลี่ยงปัญหาสังคมและความล่มสลายของสิ่งแวดล้อม แหล่งข้อมูล