Thursday, September 18, 2008

พายุนาคเล่นน้ำ

เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยฮือฮา สำหรับ “พายุนาคเล่นน้ำ” ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้เกิดขึ้นซ้อน ๆ กัน 2 ที่ 2 ทิศของประเทศไทย ด้วยขนาดที่ถือว่าใหญ่ทีเดียว นั่นก็คือในบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เมื่อ 9 ก.ย. 2551 และในทะเลอ่าวจอมเทียน-อ่าวพัทยา จ.ชลบุรี เมื่อ 12 ก.ย. 2551
หลายคนอาจมองปรากฏการณ์นี้ในเชิงลางบอกเหตุ
ขณะที่ในทางวิทยาศาสตร์-วิชาการ...ก็มีคำอธิบาย...
ทั้งนี้ ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ใน http://gotoknow.org/ profile/chiew-buncha โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อธิบายไว้ว่า... พายุหมุนแบบนี้ที่เกิดในน้ำ ที่เรียกว่านาคเล่นน้ำ บางทีก็เรียก “พวยน้ำ” ฝรั่งเรียก “วอเตอร์สเปาท์ (waterspout)”
นาคเล่นน้ำจะมี 2 แบบ โดยแบบแรกเกิดเหนือผืนน้ำ อาจเป็นทะเล ทะเลสาบ แอ่งน้ำ ระหว่างที่มีพายุฝนฟ้าคะนองหนักแบบซูเปอร์เซลล์ และมีระบบอากาศหมุนวนที่เรียกว่าเมโซไซโคลน เรียกว่า นาคเล่นน้ำที่เกิดจากทอร์นาโด ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องทวิสเตอร์จะมีอยู่ฉากหนึ่งที่มีทอร์นาโดแบบนี้หลายงวงอาละวาดอยู่ในน้ำ
แบบที่สอง จะเกิดบ่อยกว่า และน่าจะตรงกับที่เพิ่งเกิดขึ้นในบ้านเรา ที่ไม่มีฝนฟ้าคะนองร่วม เกิดจากการที่มวลอากาศเย็นเคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า โดยบริเวณใกล้ ๆ ผิวน้ำมีความชื้นสูง ไม่ค่อยมีลมพัด หรือถ้ามีก็พัดเอื่อย ๆ ผลคืออากาศที่อยู่ติดกับผืนน้ำซึ่งอุ่นในบางบริเวณจะยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้อากาศโดยรอบไหลเข้าแทนที่ จากนั้นจึงพุ่งเป็นเกลียวขึ้นไป แบบนี้เรียก นาคเล่นน้ำของแท้
จุดต่างของทั้ง 2 แบบคือ แบบแรกอากาศหมุนจากบนลงล่าง แบบที่สองอากาศหมุนจากล่างขึ้นบน ซึ่งช่วงที่อากาศพุ่งขึ้นเป็นเกลียววนหากน้ำในอากาศยังอยู่ในรูปไอน้ำจะยังมองไม่เห็นอะไร แต่หากอากาศขยายตัวและเย็นตัวถึงจุดหนึ่ง ไอน้ำกลั่นตัวเป็นหยดน้ำจำนวนมาก จะเห็นท่อหรือ “งวงช้าง” เชื่อมผืนน้ำและเมฆ

นาคเล่นน้ำส่วนใหญ่ยาวราว 10-100 เมตร แต่ถึง 600 เมตรก็เคยพบ เส้นผ่านศูนย์กลางก็มีตั้งแต่เล็ก ๆ แค่ 1 เมตร ไปจนถึงหลายสิบเมตร โดยในนาคเล่นน้ำแต่ละตัวอาจมีท่อหมุนวนเพียงท่อเดียวหรือหลายท่อก็ได้ แต่ละท่อจะหมุนด้วยอัตราเร็วในช่วง 20-80 เมตรต่อวินาที (ถ้าเป็นพายุทอร์นาโดมักจะยาวราว 100-300 เมตร และหมุนวนเร็ว 40-150 เมตรต่อวินาที) กระแสลมในตัวพายุนาคเล่นน้ำจะเร็ว 100-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถจะคว่ำเรือเล็ก ๆ ได้สบาย
นอกจากหมุนวนรอบตัวเองแล้ว นาคเล่นน้ำยังสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วตั้งแต่ 3-130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ค่อนข้างช้าประมาณ 18-28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ดี นาคเล่นน้ำมีอายุการเกิดไม่นาน คืออยู่ในช่วง 2-20 นาที (แต่ถึง 30 นาทีก็เคยพบ) และหากขึ้นฝั่งก็มักจะสลายตัวอย่างรวดเร็ว
ดร.บัญชาบอกไว้อีกว่า... ตามสถิติที่ค้นได้พบ นาคเล่นน้ำเคยเกิดพร้อมกัน 7 ตัวที่เกรทเลคส์ พรมแดนระหว่างแคนาดากับสหรัฐอเมริกา ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า นาคเล่นน้ำครั้งมโหฬารแห่งปี 2003 ซึ่งมีนาคเล่นน้ำปรากฏถึง 66 ตัว (เป็นอย่างต่ำ) แค่ในช่วงระหว่าง 27 ก.ย.-3 ต.ค. ปี ค.ศ. 2003
ในสหรัฐ “นาคเล่นน้ำ” มักเกิดแถวฟลอริดาบริเวณที่เรียกว่าฟลอริดาคียส์ ใกล้ “สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา” ทำให้บางคนสันนิษฐานว่า “อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินและเรือจำนวนมากสูญหายไปในบริเวณสามเหลี่ยมลึกลับนี้ก็เป็นได้” ...ดร.บัญชาระบุไว้ และยังมีข้อมูลในส่วนของ “พายุงวงช้าง” ที่เกิดบนพื้นดินด้วยว่า... ฝรั่งเรียกว่า “แลนด์สเปาท์ (landspout) ก็คล้ายนาคเล่นน้ำของแท้ แต่เกิดจากมวลอากาศเย็นเคลื่อนที่ผ่านพื้นดินที่ร้อนจัดเพราะถูกแดดแผดเผา อากาศเลยยกตัวลอยขึ้นและหมุนวนเป็นเกลียว
แหล่งข้อมูล