Saturday, September 13, 2008

“สภาวะการศึกษาไทย ปี 2550-2551 เกี่ยวกับปัญหาความเสมอภาคและคุณภาพของการศึกษาไทย”

จากการสัมมนาโครงการสภาวะการศึกษาไทย ปี 2550-2551 ซึ่งจัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เมื่อวันที่ 2 ก.ย. รศ. วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ตนได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “สภาวะการศึกษาไทย ปี 2550-2551 เกี่ยวกับปัญหาความเสมอภาคและคุณภาพของการศึกษาไทย” พบว่า การจัดการศึกษามีปัญหาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยจากข้อมูลจัดการศึกษาในช่วงปีการศึกษา 2549-2551 สะท้อนว่า ประชากรในวัยเรียน อายุ 3-17 ปี แม้จะมีโอกาสได้รับการศึกษาสูงขึ้นจาก 85.3% ในปี 2549 เป็น 88.77% ในปี 2551 แต่ก็ยังมีผู้ไม่ได้เรียนสูงถึง 1.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 11.23% ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้รัฐบาลจัดการศึกษาภาคบังคับแก่ประชาชน 9 ปี สำหรับระดับอุดมศึกษา ปี 2549-2550 มีผู้เรียนระดับปริญญาตรี ประมาณ 2.4 ล้านคน จบปีละ 2.7 แสนคน ว่างงานปีละ 1 แสน มีนักศึกษาปริญญาโท 1.8 แสนคน และปริญญาเอก 16,305 คน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2550 มีผู้เรียนระดับต่ำกว่าปริญญาตรีลดลง เพราะสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่จะขยายการเรียนในระดับปริญญาตรีและสูงกว่ามากขึ้น เนื่องจากคนนิยมเรียนเพื่อให้ได้ปริญญาเพิ่ม

รศ.วิทยากร กล่าวต่อไปว่า ส่วนคุณภาพในการจัดการศึกษานั้น ความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ของไทยมีแนวโน้มต่ำลงตลอด สำหรับแนวทางการปฏิรูปการศึกษานั้น มีหลายเรื่องที่อยากจะเสนอ ศธ. อาทิ ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารการศึกษาแบบลดขนาด ลดบทบาทของการบริหารแบบรวมศูนย์อยู่ที่ รมว.ศธ.และ ส่วนกลางลง โดยกระจายอำนาจให้มีการบริหารแบบใช้ปัญญารวมหมู่, ปฏิรูปคุณภาพและคุณธรรมของครูอาจารย์อย่างจริงจัง, เปลี่ยนแปลงวิธีการ คัดเลือกคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ จากการสอบปรนัย ที่เน้นคำตอบสำเร็จรูป ไปเน้นการวัดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาตนเองที่สะท้อนความรู้ความสามารถอย่างเป็นองค์รวม และที่สำคัญต้องปฏิวัติการศึกษาให้เกิดความเสมอภาค โดยต้องทุ่มงบฯกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ไม่ใช่ทุ่มงบฯกับโครงการเมกะโปรเจคท์ เพราะการพัฒนาเด็กปฐมวัยจะทำให้เด็กฉลาดและมีคุณภาพ เมื่อเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น

ด้าน ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ไทยขาดผู้นำด้านการศึกษา โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองมีน้อยมาก เป้าหมายการจัดการศึกษาของไทยทั้งด้านคุณภาพและการพัฒนายังกระจัดกระจาย ทำให้เด็กที่จบมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงปริญญาตรี มีปัญหาด้านคุณภาพ เช่น การอ่านเขียนคำว่า“แพทย์” และ “สร้างสรรค์” ไม่ถูก แต่ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทและเอก ทำให้การศึกษาไทยเดินไปสู่ความไม่เอาไหน.แหล่งข้อมูล