“ผู้จัดการรายสัปดาห์” ได้จัดเสวนาร่วมกับนักวิชาการ และนักธุรกิจชื่อดัง อาทิ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการอิสระ, ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจแถวหน้าของเมืองไทย, เกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน), มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อหาทางออกให้กับการเมืองของไทยที่กำลังบอบช้ำเสียหายอย่างนี้ว่า แนวทางของ “การเมืองใหม่” ที่เหมาะกับเมืองไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
สูตรหนึ่ง
ลดผู้แทนแบ่งเขต
เพิ่มผู้แทนกลุ่มอาชีพ
สูตรนี้จะว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะการเมืองภาคประชาชนเป็นเรื่องพูดกันมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยในชุมชน ประชาธิปไตยในท้องถิ่น เพียงแต่ภาพเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้น-มากขึ้น จากการเข้าร่วมชุมนุมของประชาชนที่เวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ดร.เอนก เสนอว่าสูตรนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นเรื่องของเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วมเช่นเดิม เพียงแต่ลดจำนวนผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตพื้นที่ หรือ Territorial Representative ลง แล้วให้เพิ่มผู้แทนที่มาจากสายอาชีพ หรือ Functional Representative หรือ Occupational Representative ขึ้นมา เช่น จากเดิมผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งจากแบ่งเขตพื้นที่อาจจะมี 400 คน ให้เหลือเพียง 200 คน ที่เหลือให้คัดเลือกจากตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ พยาบาล สถาปนิก ชาวนา หรือกรรมกร เป็นต้น
“สัดส่วนเป็นแค่ตุ๊กตา แต่คิดว่ามันน่าจะเท่าๆกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสส.แบ่งเขต ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ถ้าอยากจะมีก็ให้เป็นครึ่งหนึ่งของ สส. ทั้ง 2 ประเภทนั้น
ที่ผมคิดอย่างนี้เพราะอยากแหกกรอบความคิดในปัจจุบันที่เป็นการ Represent โดยใช้พื้นที่ เช่น เขตละ 3 คน ถ้าเราเห็นเนื้อหาในการคุยในสภาก็ไม่มีเรื่องอะไร เพราะมันไม่มีตัวแทนอาชีพที่หลากหลายคอยเสนอ คอยปกป้องผลประโยชน์ของแต่ละฟังก์ชั่น ดังนั้นแบบนี้ก็ไม่เลว”
ในส่วนแรกนี้ เกียรติพงศ์ ให้ความเห็นเสริมว่า สิ่งสำคัญของสูตรนี้คือ จะต้องมีกฎเกณฑ์ควบคุมอีกชั้นหนึ่งว่า การจะคัดเลือกสมาคมวิชาชีพนั้นมีวิธีการคัดเลือกอย่างไร มิเช่นนั้นทุกคนก็สามารถตั้งเป็นสมาคมวิชาชีพได้หมด จากนั้นก็ใช้ความเป็นพวกเลือกคนของตนเองเข้ามา ดังนั้น จึงต้องขึ้นทะเบียนก่อนว่าอาชีพไหนต้องถูกคัดเข้ามาก่อน และต้องมีขั้นตอนในการเลือก เช่น อาจใช้วิธีพิจารณาจากตัวเลขการเสียภาษี สมาคมไหนเสียภาษีมากที่สุดตั้งแต่ 1-100 เป็นต้นไปมีสิทธิ์เสนอคนของตนเองขึ้นมาโดยแต่ละสมาคมมีสิทธิ์ออกเสียงเพียงเสียงเดียวเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เป็นประชาธิปไตย
ปรีดา ให้ทัศนะเพิ่มอีกว่า การเลือกแบบทางตรง (การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต) เท่ากับเป็นการยอมรับสิทธิถึงความเป็นเจ้าของประเทศ เพื่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วม อันนี้เราต้องให้เป็นหลัก ส่วนทางสายอาชีพที่เรียกว่าทางอ้อม มันดีที่ว่าจะเป็นการดันคนที่มีความรู้ทางสายอาชีพที่เป็นพลังทางด้านเศรษฐกิจจริงๆเข้ามา ถ้าได้พวกนี้เข้ามาจำนวนหนึ่งก็จะมาสร้างความเข้าใจในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าเรื่องสังคมเฉพาะอย่างในกรณีมีเอ็นจีโอเข้ามา มันจะมีความรู้ที่แน่นอนเฉพาะกลุ่ม เมื่อประสานความรู้จากคนที่ได้มาจากทางตรง ซึ่งจะเข้าใจปัญหาของชาวบ้าน ปัญหาสังคมท้องถิ่นได้ดีกว่า
“มันเป็นกระบวนการสมบูรณ์แบบ ถ้าคุณใช้ทางตรงอย่างเดียวเข้ามาก็เสียคือจะไม่มีองค์ความรู้เลย ผมมองว่าทางอ้อมจะช่วยให้มีองค์ความรู้มากขึ้นในสภา”
ส่วนที่สอง ด้านการตรวจสอบ ต้องให้ผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งสามารถถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด เข้มข้นทั้งจากประชาชน และองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเมืองใหม่สูตรนี้ใช่ว่าจะทำให้การเมืองบ้านเราสะอาด บริสุทธิ์ ยุติธรรม ใสสะอาด ดังที่เราวาดหวัง เพราะหลายคนในวงเสวนาเชื่อว่า อีกไม่นานก็จะมีการซื้อเสียงในสภาเกิดขึ้นอีก เพียงแต่สูตรนี้มีความหลากหลายในกลุ่มอาชีพมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีการคานอำนาจ และถ่วงดุลอำนาจกันได้ดีขึ้น
สูตรที่สอง
นักการเมืองเลิกสังกัดพรรค
การที่ผู้สมัคร สส. ต้องสังกัดพรรคเป็นการลดความเป็นอิสระทางด้านความคิดเห็นทางการเมืองของ สส. แต่ไปเพิ่มดำนาจการต่อรองให้กับผู้มีอำนาจในพรรคการเมือง ซึ่งก็คือนายทุนพรรคนั่นเอง และการสังกัดพรรคการเมืองในปัจจุบันกลายเป็นความจำเป็นทางการเมือง มากกว่าจะเกิดจากการร่วมกิจกรรมทางการเมือง เพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน พรรคการเมืองจึงเป็นเสมือนบริษัทใหญ่ที่นักการเมืองต้องแย่งกันมาสมัครเป็นพนักงาน จนท้ายสุดเกิดการผูกขาดตลาดการเมืองด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่เพียง 2-3 บริษัท ส่งผลให้พ่อค้ารายเล็กรายน้อยไม่สามารถประกอบธุรกรรมทางการเมืองได้
“มันต้องเลิกการครอบงำ สส.โดยพรรค รัฐธรรมนูญหลายฉบับของเราบังคับ สส. ต้องสังกัดพรรค และมีระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างว่า ถ้าสส.ถูกขับออกจากพรรคก็จะถูกขับออกจากสมาชิกภาพด้วย อันนี้มันเป็นปัญหาของการเมืองแบบเก่าของเราที่พรรคคุมสส.ไม่ได้ มีการไปซื้อขายเสียงในห้องน้ำ มันก็เลยมีการแก้ไปอีกแบบทำให้กลายเป็นถ้าเป็นคนที่มีเงินมากๆไปเป็นหัวหน้าพรรคด้วย อำนาจเงินทำให้ สส.กลายเป็นคนที่น่ารังเกียจ และน่าขบขัน ทุกคนพูดแล้วเหมือนหุ่นยนต์หมด เพระทุกเรื่องมันพูดมาจากที่พรรคหมดแล้ว ถ้าอยากเจริญก้าวหน้าต้องพูดตามแนวพรรค มิเช่นนั้นคราวหน้าจะไม่ส่งลง จึงอาจต้องกลับไปสู่มาตรฐานแบบเดิมของไทย หรือมาตรฐานสากลที่ส่วนใหญ่บอกว่า สส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคก็ไม่เลว”
สูตรที่สาม
แยกบริหาร-นิติบัญญัติ
ผู้นำมาจากการเลือกตั้ง
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าสูตรการเมืองใหม่แบบนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใหม่เอี่ยมถอดด้าม เพราะเป็นสิ่งเมืองไทยใช้กันอยู่แล้ว ทั้งการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เลือกตั้งเทศบาล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เพียงแต่คราวนี้ยกระดับการคัดเลือกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
บางคนที่ชอบมองโลกในแง่ร้าย ชอบจับผิดอาจบอกว่า การเสนอการเมืองใหม่ในสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อดันประเทศไทยเข้าสู่การปกครองในระบอบประธานาธิบดี ต้องการล้มล้างระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งขอออกตัวมา ณ ที่นี้ก่อนว่า แนวคิดที่กลุ่มผู้เสวนาเสนอออกมาครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนา หรือวัตถุประสงค์ไปในแนวทางนั้น เพราะท้ายที่สุดผู้ที่ได้รับการคัดเลือกขึ้นมาในตำแหน่งผู้นำประเทศนั้นต้องเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แนวทางนี้เสนอขึ้นเพื่อลดปัญหาว่านายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากสภาฯ เพื่อให้นายกฯไม่ต้องเป็นเบี้ยล่างให้กับบรรดา สส. ซึ่งจะว่าไปแล้วหลักการนี้เป็นหลักการที่หลายประเทศทั่วโลกใช้กันอยู่
สูตรนี้เสนอว่าให้นายกฯ หรือหัวหน้าฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดทั้งสิ้น คล้ายกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใช้กันอยู่แล้วในปัจจุบัน เพียงแต่ที่ต้องขยับมาถึงระดับผู้นำประเทศก็เพื่อให้มีหลักประกันในการบริหาร ประเด็นสำคัญของสูตรนี้มีอยู่ว่า เนื่องจากเมืองไทยมีสภาวิชาชีพ หรือสมาคมวิชาชีพ เอาเฉพาะที่มีกฎหมายรองรับเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ใครก็ตามที่สมัครเป็นผู้นำประเทศได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ โดยให้สมาชิกที่มีเป็นจำนวนมากของสมาคมนั้นๆเป็นผู้เลือกตั้งอีกที เมื่อได้แล้วรัฐบาลจะออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้ ส่วนพรรคการเมือง หรือผู้สมัครอิสระคนอื่น หากต้องการส่งผู้สมัครของตนเองก็สามารถทำได้แต่รัฐบาลจะไม่ออกเงินสนับสนุนให้ จากนั้นจึงค่อยเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งเพื่อให้ผู้สมัครแต่ละคนสามารถแสดงนโยบายต่างๆได้
“ในการหาเสียงรัฐจะจ่ายให้ แต่อย่าไปห่วงว่ารัฐจ่ายเงินให้แล้วเป็นการถลุงเงินภาษี เพราะเอาคนโกงเข้ามาจะโดนกินไปกี่แสนล้าน มันเปรียบเทียบไม่ได้เลย แต่คัดเลือกก่อนทำให้มั่นใจว่าเราได้คนที่ดีจริง ให้ผ่านกระบวนการสรรหา”
เมื่อได้รับเลือกแล้วทางผู้นำประเทศคนใหม่จะเป็นคนเสนอรายชื่อรัฐมนตรีเพื่อดูแลงานในกระทรวงต่างๆ แต่บุคคลที่ถูกเสนอชื่อจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ และความเหมาะสมจากฝ่ายนิติบัญญัติก่อน
ไม่เพียงเท่านั้น สูตรนี้ยังลงรายละเอียดไปถึงการคัดเลือกผู้แทนราษฎรเพื่อมาทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติด้วย เช่น หากต้องการสส. ที่ดูดี มีความรู้ มีคุณธรรม ก็อาจต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครให้เข้มขึ้นอีก หรือนำแนวคิดเดียวกับการคัดเลือกฝ่ายนบริหารเข้ามาใช้ ด้วยการให้ผู้สมัคร สส. ต้องผ่านสภาวิชาชีพรับรองก่อน ถ้าได้รับการรับรองแล้วรัฐบาลจะเป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้ ขณะที่คนอื่น หรือผู้สมัครจากพรรคการเมืองจะมาสมัครก็ได้แต่ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง
“มันเป็นหลักการของรูปแบบการแบ่งแยกอำนาจที่เขาทำอยู่แล้ว แต่บ้านเรากลัวระบบประธานาธิบดี แล้วไปติดชื่อตรงนี้ก็เลยกลัว ซึ่งจริงๆ การเมืองท้องถิ่นเราเอามาใช้หมดแล้ว และอำนาจของนายกฯ เราเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่ามีหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารรับสนองพระบรมราชโองการ มันจะไม่มีส่วนไหนเลยที่จะไปเกี่ยวข้องกับการทำลาย หรือล้มล้างระบอบพระมหากษัตริย์ เพราะถือเป็นองค์พระประมุข ซึ่งต้องเขียนให้ชัดเจน”
ในวงเสวนายังเสนอเพิ่มเติมด้วยว่า ไม่ใช่เฉพาะรัฐมนตรีที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามารับตำแหน่งเท่านั้นที่ต้องถูกตรวจสอบ แต่ข้าราชการการเมืองระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง อธิบดี หากได้รับการเสนอชื่อต้องผ่านการไต่สวนสาธารณะของสภาผู้แทนเสียก่อน และที่สำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งในระดับสภาผู้แทน หรือคณะกรรมาธิการแต่ละคณะต้องมีอัยการอิสระเข้ามาคอยฟังการไต่สวน หากฟังว่ามีมูลว่าทุจริตสามารถสืบสวน และส่งต่อเพื่อฟ้องศาลได้เลยทันที
สูตรที่สี่
เลือกแบบจังหวัดสกัดซื้อเสียง
สำหรับสูตรนี้ยังเป็นสูตรการเลือกตั้งแบบที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ เพียงแต่มีการเปลี่ยนการเลือกตั้งใหม่จากเดิมที่เป็นเลือกในระดับเขต แต่ละเขตมีผู้แทนได้ 1-2-3 คน แล้วแต่จำนวนประชากร มาเป็นการเลือกในระดับจังหวัด เหมือนกับการเลือกตั้งของกรุงเทพฯ เพื่อให้โอกาสการซื้อเสียงยากขึ้น เนื่องจากต้องซื้อทั้งจังหวัด ไม่ใช่แค่ 2-3 อำเภอเหมือนที่ผ่านมา เสร็จแล้วจัดอันดับ ใครได้คะแนนเสียงสูงสุดของจังหวัดได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ตาม สูตรนี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ว่า แม้จะได้รับเลือกตั้งแต่จะไม่มีสิทธิ์ขึ้นเป็นรัฐมนตรี ซึ่งข้อจำกัดทั้ง 2 ประการนี้จะทำให้สิ่งที่จะมาจูงใจการซื้อเสียงน้อยลง เพราะลงทุนมากแต่ไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ เพราะฝ่ายบริหารจะเป็นผู้จัดตั้งกันเอง ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ออกกฎหมายเพียงอย่างเดียว
“เราต้องตัดโอกาสก่อนด้วยการดูที่ระบบของมัน ดังจะเห็นได้จากการเลือกสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ ทำไมรสนา (โตสิตระกูล) ได้อันดับ 1 เพราะโอกาสซื้อเพื่อให้ชนะมันซื้อยากขึ้น เพราะเขตที่ใหญ่ทำให้ซื้อยากขึ้น แต่นี่เอาทั้งจังหวัดเลย”
ปรับจริยธรรม คุณธรรม
นักการเมืองศรีธนญชัย
อย่างไรก็ตาม เป็นที่เชื่อกันในวงเสวนาว่าไม่ว่าการออกแบบการเมืองใหม่จะสวยหรู หรือเป็นที่น่าชื่นชมว่าสามารถสกัดกั้นวงจรอุบาทว์ไม่ให้ฟื้นคืนชีพได้ดีเพียงไร แต่หากนำมาใช้กันจริงๆเมื่อไร นักการเมืองไทยก็สามารถดิ้น และหานวัตกรรมการโกง ออกมาได้อย่างแนบเนียนทุกครั้งทุกครา ดังเช่น กรณีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่เมืองไทยเคยมีมา แต่ในที่สุดนักการเมืองไทยก็สามารถหาช่องทุจริตจนได้
เรื่องนี้ มนตรีมองว่า จริงแล้วรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ดีอยู่แล้ว เพราะเสียงของประชาชนยังเป็นวิธีดีที่สุดเนื่องจากเป็นวิธีที่ประชาชนมีส่วนร่วม และเป็นธรรมทั่วถึงกันเพียงแต่ที่ผ่านมาที่การเมืองบ้านเรามีปัญหาเพราะระบบในการบังคับใช้ (Enforcement) ของกฎหมายยังไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่
“ผมนึกภาพอื่นไม่ออก การเลือกตั้งโดยไม่มีพรรคมันก็ไปจับพรรคกันอยู่ดี โดยเฉพาะพวกที่ซิกแซ็ก เรามักจะเห็นว่าหากต้องการหลักฐานเรื่องค่าจ้างก็ไปทำเป็นจ่ายค่ารถ ค่าน้ำมัน กันไม่ให้ถือหุ้นก็ไปถือผ่านลูก คือมันคิดได้ตลอด พอเรากำหนดระบบว่าคุณห้ามอยู่กันเป็นพรรค ดูอย่างสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านมาที่ไม่ให้สังกัดพรรคก็ไปตั้งเป็นเมียกับลูกของคนที่อยู่ในพรรค ฉะนั้น อย่าไปกำหนดกฏเลย”
มนตรี บอกว่า ผมมองว่าการเมืองใหม่ที่แท้จริงเป็นเรื่องในเชิงจิตใจ คือ การที่ทุกคนต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ที่มาซึ่งการมารับใช้ประเทศชาติในตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุด แต่เป็นเรื่องของการควบคุมกำกับ เพื่อให้การใช้อำนาจนั้นอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเวลามีความผิดแล้วนักการเมืองกระทำผิดมันไม่ใช่เรื่องที่ว่าผมมาจากการเลือกตั้ง มันต้องเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องยอมรับว่า มาจากการเลือกตั้งแล้วถ้าทำผิดก็จะต้องรับ และควรลงจากอำนาจ
“ ถ้าทุกคนมีค่านิยมตรงนี้ที่ชัดเจนมากขึ้น ผมเชื่อว่านั่นคือความสว่าง นั่นคือการเมืองใหม่” แหล่งข้อมูล