Tuesday, February 19, 2008

การปรับปรุงอาคารหอสมุดแห่งชาติ

ข่าวมติชน 19 กุมภาพันธ์ 2551 กรมศิลป์รุกปรับ"หอสมุดแห่งชาติ"
รองอธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการปรับปรุงหอสมุดแห่งชาติ เขตเทเวศร์ กรุงเทพมหานคร ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณปี 2551-2553 ประมาณ 562 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงหอสมุดแห่งชาติให้ทันสมัย และมีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ขณะนี้อยู่ในการดำเนินการระยะแรก คือปรับปรุงอาคารหอสมุดแห่งชาติชั้นล่างให้ทันสมัย และมีพื้นที่ใช้สอยเพื่อให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปให้สะดวกสบายมากขึ้น โดยให้บริการวารสารและหนังสือ และมุมการให้บริการสืบค้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ทันสมัยกว่าระบบที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งใช้มานานนับ 10 ปี นอกจากนี้ จะก่อสร้างอาคารเพิ่มด้านหลัง เป็นอาคารเก็บวิทยานิพนธ์ และอาคารเก็บพระธรรม ซึ่งเป็นอาคารขนาดเล็ก 2 ชั้น โดยจะทุบ และสร้างอาคารใหม่ที่ทันสมัย ขยายพื้นที่การจัดเก็บหนังสือให้มากขึ้นไปจนถึงอีก 10 ปี คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จปี 2553 จากนั้นจะปรับปรุงระบบเทคโนโลยีหอสมุดแห่งชาติให้ทันสมัย เช่น การให้บริการออนไลน์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และการจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ "ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติคับแคบ เพราะต้องจัดเก็บหนังสือเพิ่มมากขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีหนังสือจัดเก็บไว้ 2 ล้านเล่ม ยังไม่นับรวมวารสาร หนังสือพิมพ์ที่มีอีกมาก ดังนั้น เมื่อปรับปรุงหอสมุดแห่งชาติเสร็จแล้ว จะรองรับคนมาใช้บริการได้เป็นปีละ 2 ล้านคน จากปีละกว่า 1 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงให้หอสมุดแห่งชาติทันสมัยเทียบเท่าหลายประเทศในเอเชียนั้น คงต้องใช้เวลาและงบฯอีกมาก เพราะขณะนี้หลายประเทศได้พัฒนาหอสมุดทันสมัยกว่าประเทศไทยมาก" แหล่งข้อมูล
ข้อมูลเกี่ยวกับหอสมุดแห่งชาติ
หอสมุดแห่งชาติเดิมเรียก “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเมื่อปี ๒๔๔๘ แหล่งข้อมูล
“สมเด็จพระเทพฯ” ทรงแนะจัดระบบค้นหนังสือในหอสมุด [22 ก.พ. 51 ]
นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี ทรงรับสั่งให้กรมศิลปากร จัดทำระบบสืบค้นข้อมูล หนังสือ เอกสาร ที่เก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนสามารถสืบค้นหนังสือได้ง่ายขึ้น รวมทั้งทรงห่วงในเรื่องการสืบค้นเอกสาร หนังสือโบราณที่เป็นประโยชน์ด้วย ทั้งนี้กรมศิลปากรจึงรับแนวพระราชดำริ ของพระองค์ ไปดำเนินการแล้ว ในส่วนที่ต้องเร่งรัดดำเนินการก่อน จะ เป็นประเภท เอกสาร หนังสือโบราณ อาทิ ตำรายา ประวัติศาสตร์ และจดหมายเหตุ ซึ่งขณะนี้มีมากว่า 200,000 รายการ โดยจะจัดทำเป็นระบบสืบค้นข้อมูล เอกสารโบราณแต่ละเล่ม ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง แต่ปัจจุบันพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านหนังสือเอกสารโบราณเข้าใจได้ จึงต้องใช้นักภาษาศาสตร์มาช่วยอ่าน
นอกจากนี้จะประสานไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ วัด มูลนิธิที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และมหาวิทยาลัยศิลปากร หาผู้ที่มีความรู้มาช่วยแปลเอกสาร หนังสือภาษาโบราณ ให้เป็นภาษาไทย จากนั้นจะจัดทำหนังสือแปลเอกสารโบราณเผยแพร่ให้ ประชาชน และห้องสมุดต่างๆ ซึ่งต่อไปหอสมุดแห่งชาติจะต้องสืบค้นเอกสาร หนังสือทุกชนิดได้กว้างขึ้น โดยวิธีการสืบค้นจากคำที่มีความเชื่อมโยงกับรายละเอียดของหนังสื่อเล่มต่างๆ รายชื่อผู้ประพันธ์ หรือตามประวัติศาสตร์ยุคต่างๆ ได้ด้วย ทั้งนี้ ในส่วนนี้สามารถทำได้เลย ก็จะต้องเร่งทำในปี 2551 ทันที แหล่งข้อมูล