Sunday, February 08, 2009

3 จีเมืองไทยยังคงต้องรอ

3 จีเมืองไทยยังคงต้องรอ 8 กุมภาพันธ์ 2552 กองบรรณาธิการไทยโพสต์

เริ่มมีการส่งสัญญาณที่ดีออกมาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมบ้างแล้ว เมื่อการประชุมของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.ในวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา

ที่ได้ใช้ระยะเวลาการประชุมถึง 8 ชั่วโมง จนในที่สุดก็ได้เคาะเลือกใช้วิธีการประกวดราคา (ออกชั่น) ในการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ย่าน 2.1 กิ๊กกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำมาพัฒนาการให้บริการ 3 จี เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่มีความโปร่งใสมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบอื่นอย่างมาก่อนได้ก่อน (First com e first serve) เลือกจากผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแล้วยื่นประกวดราคา (Beauty Contest) และไฮบริด หรือวิธีผสมระหว่างบิวตี้ คอนเทสต์ และออกชั่น

นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการ กทช.กล่าวว่า กทช. จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะใช้วิธีไหน เพราะแต่ละรูปแบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป เช่น บิวตี้ คอนเทสต์ มีข้อเสียคือ อาจถูกมองว่าลำเอียงหรือคอรัปชั่นได้ง่าย ขณะที่การประมูลนั้นจะเป็นการตีราคาคลื่นเองของผู้ขอใบอนุญาต ซึ่งหากคลื่นมีราคาแพง จะเป็นเหตุให้ผู้ใช้บริการต้องรับภาระค่าบริการที่จะเกิดขึ้นภายหลัง ทั้งนี้ หลังจากออกหลักเกณฑ์ต่างๆ แล้ว จะต้องผ่านขั้นตอนการประชาพิจารณ์ และคาดว่าจะสามารถออกใบอนุญาตได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

ทั้งนี้ เบื้องต้น กทช.จะมอบใบอนุญาต 3 จีเป็นระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป โดยผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลไทยตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ได้กำหนดไว้ แต่รายละเอียดในส่วนต่างๆ เช่น จำนวนผู้ที่จะได้รับใบอนุญาต จากที่คาดว่าจะสามารถให้ใบอนุญาต 4 ราย คือ รายใหม่ 1 ราย ส่วนที่เหลือเป็นรายเก่า โดยแบ่งคลื่นที่มีอยู่ 45 เมกะเฮิรตซ์ เป็น 10 เมกะเฮิรตซ์ 3 ราย และ 15 เมกะเฮิรตซ์อีก 1 ราย รวมไปถึงการพิจารณาระยะเวลาของใบอนุญาตให้ชัดเจนมากกว่านี้ แผนการลงทุนของผู้รับใบอนุญาต วีธีการชำระหนี้การประมูล รวมถึงต้นทุนการกำกับดูแล ที่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปออกมา ซึ่งสำนักงาน กทช.คาดใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ข้อมูลดังกล่าวน่าจะครบถ้วน

นอกจากนี้ ขณะนี้สำนักงาน กทช.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกันกับมหาวิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยชาร์มเมอร์ สวีเดน เพื่อกำหนดราคาขั้นต่ำของคลื่น 3 จี ซึ่งเรื่องนี้ นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการ กทช.กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กทช.มีมติเป็นเอกฉันท์เลือกวิธีจัดสรรคลื่นความถี่ผ่านการประมูล ซึ่งต้องมีการกำหนดราคากลางไม่สูงหรือต่ำไป เพราะจากการศึกษาการกำหนดราคาที่สูงเกินไป หากไม่สามารถปฏิบัติได้ ผู้ประกอบการก็ต้องคืนใบอนุญาต ผลกระทบก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค ในขณะที่ถ้าราคาใบอนุญาตมีราคาต่ำเกินไป รัฐจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ และตกเป็นข้อครหา ดังนั้น กทช.ต้องคำนวณจากหลายตัวแปร

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจากการตัดสินใจจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิรตซ์ล่าช้าได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการมือถืออย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้นำร่องทดลองบริการ 3 จีบนคลื่นความถี่เดิมย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ในจังหวัดเชียงใหม่และสยามพารากอน ในขณะที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ก็เตรียมพัฒนาให้บริการ 3 จีบนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์เช่นกัน ระหว่างรอ 3 จีบนคลื่นใหม่

ในที่สุดทุกคนยังคงต้องนอนรอ 3 จีคลื่นใหม่อยู่ดี ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับว่า กทช.จะสามารถสรุปรายละเอียดและกรอบต่างๆ ได้เร็วหรือไม่ โดยเฉพาะเอกชนที่คาดหวังไม่น้อย ต่างผิดหวังและบ่นกันอุบถึงผลสรุปของ กทช.ที่ถึงแม้จะมีข้อสรุปโดยเลือกใช้วิธีประมูลก็ตาม แต่รายละเอียดส่วนต่างๆ ก็ยังไม่ชัดเจนทั้งๆ ที่ใช้ระยะเวลาในการศึกษาเรื่องดังกล่าวมาไม่น้อย เพราะถ้าพูดถึงข้อดีของการมีบริการ 3 จีในขณะนี้ นอกจากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์แล้ว ยังส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการที่อยู่ต่างจังหวัดที่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือได้ ในระหว่างที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ก็ยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเมืองและสังคมต่างจังหวัด

สุดท้าย 3 จีจะเป็นไปตามแผนที่ กทช.กำหนดไว้หรือไม่ คือ มอบใบอนุญาตได้ภายในปีนี้ และสามารถให้บริการ 3 จีได้ประมาณปี 2553 คงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไม่น้อย ประกอบกับถ้า กทช.สามารถพิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง (ไวแมกซ์) และเลขหมายเดียวทุกระบบ (นัมเบอร์พอร์ทิบิลิตี้) เพื่อให้ทันในปีนี้เช่นกัน คงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไม่น้อย และคงเป็นจุดเปลี่ยนให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไอทีให้กระเตื้องขึ้นอีกรอบหลังจากหยุดนิ่งมานาน.