Monday, February 23, 2009

ธนาคารโลกทำวิจัย 150 ประเทศ วัดดัชนีระบบโลจิสติกส์

เนื่องระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะเป็นระบบที่ผลักดันให้เกิดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น โดยจะช่วยทางด้านต้นทุนในการประกอบการของธุรกิจให้ลดต่ำลง (Cost Reduction) การตอบสนองลูกค้าได้ถูกต้องและรวดเร็ว (Responsiveness & Reliability) ซึ่งจะทำให้ศักยภาพทางด้านการแข่งขันของประเทศสูงขึ้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านเคลื่อนย้ายสินค้าได้รวดเร็ว นอกจากนี้ อุตสาหกรรมกรรมทางด้านโลจิสติกส์ยังก่อให้เกิดการจ้างงาน และช่วยการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นโดยตรง

ดังนั้นการสร้างระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ภาคธุรกิจของประเทศรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันได้

ทั้งนี้ การประเมินทางด้านประสิทธิภาพโลจิสติกส์ของผู้ให้บริการทางด้านโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการ เป็นสิ่งที่จำเป็นในกระบวนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ เนื่องจาก จะเป็นการบ่งชี้แนวทางการพัฒนาได้อย่างถูกต้อง ดัชนีชี้วัดทางด้านประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index) หรือเรียกย่อๆว่า LPI จะเป็นมาตราฐานสำคัญที่จะช่วยให้การประเมินการชี้วัดประสิทธิภาพในแต่ละด้านของการพัฒนาให้เป็นไปในทางที่มีมาตรฐานและสามารถนำไปพัฒนาข้อด้อยและปัญหาที่ของระบบโลจิสติกส์ในแต่ละด้านได้ตรงจุด เพื่อประโยชน์ที่ได้รับของการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศไทยที่กำหนด LPI ของประเทศและ LPI ของผู้ประกอบการทางด้านโลจิสติกส์ในประเทศไว้อย่างชัดเจน แต่ก็มีองค์กรระหว่างประเทศซึ่งได้แก่ ธนาคารโลก (World Bank) ได้จัดทำดัชนีดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2550 โดยได้คำนึงถึงประเด็นสำคัญต่างๆที่เกี่ยวข้องขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของระบบโลจิสติกส์ของ
ประเทศต่างๆ

ธนาคารโลกได้กำหนดปัจจัยต่างๆในการวัด LPI ไว้ 7 ปัจจัย ได้แก่
1) ประสิทธิภาพในการดำเนินงานพิธีการต่างๆของศุลกากร
2) คุณภาพด้านการขนส่ง ด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
3) ความง่ายในการจัดการการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ
4) ความสามารถของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศ
5) ความสามารถในการสืบค้นสินค้าระหว่างมีการขนส่งทางเรือ
6) ต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศ และ
7) การส่งสินค้าถึงที่หมายตรงเวลา

ทั้งนี้ธนาคารโลกได้ทำการวิจัยกับประเทศทั้งหมด 150 ประเทศ และได้ทำการจัดลำดับ LPI ของแต่ละประเทศไว้ได้อย่างน่าสนใจ ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับว่า เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางโลจิสติกส์สูงที่สุดได้แก่ประเทศ
อันดับที่ 1 สิงค์โปร์ โดยหลังจากวัดผลจาก 7 ปัจจัยที่กล่าวข้างต้นแล้ว ประเทศสิงค์โปร์ ได้คะแนนรวม 4.19 จากคะแนนเต็ม 5
อันดับที่ 2 ได้แก่ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้คะแนน 4.18
อันดับที่ 3 ได้แก่ ประเทศเยอรมนี คะแนน 4.10
ตามมาด้วยประเทศ สวีเดน ออสเตรีย โดยได้อันดับที่ 4 และ 5 ตามลำดับ
สำหรับประเทศอื่นในทวีปเอเชียที่ได้คะแนน LPI สูงที่สุดได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 6

เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศยักษ์ใหญ่ซึ่งถือเป็นมหาอำนาจของโลกอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกากลับได้ LPI อยู่ในอันดับที่ 14 โดยประเทศยักษ์ใหญ่อีกประเทศซึ่งได้แก่ ประเทศจีนได้รับการจัดอันดับ LPI จากธนาคารโลกอยู่ในอันดับที่ 30 แต่ก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ถึงแม้ประเทศจีนจะเป็นประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่ระบบโลจิสติกส์ของประเทศจีน กลับยังไม่ทันสมัยเท่าที่ควร กิจกรรมทางโลจิสติกส์ส่วนมาก ยังคงเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการและควบคุมโดยรัฐบาล


ประเทศที่น่าสนใจอีกประเทศคือมาเลเซีย มาเลเซียถือว่าเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกับประเทศไทย โดยที่เราเองก็พยายามที่จะแข่งขันกับมาเลเซียในหลายๆ ด้าน บางครั้งเราอาจจะเห็นหลายหน่วยงานออกมากล่าวว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในด้านต่างๆมากว่า มาเลเซีย แต่ถ้าเราดูจาก LPI ที่ธนาคารโลกจัดอันดับมา จะเห็นได้ว่า มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 27 โดยได้คะแนนรวม 3.48


ในขณะที่ ไทยเรารั้งอันดับที่ 31 โดยได้คะแนนรวม 3.31 ดังนั้น ถ้าสรุปแบบง่ายๆจากอันดับที่ธนาคารโลกจัด อย่างน้อยเราก็มีเรื่องประสิทธิภาพทางโลจิสติกส์อย่างหนึงแล้ว ที่ด้อยกว่าประเทศมาเลเซีย คราวนี้ มาดูในรายละเอียดกันซักนิดนะครับ ว่าคะแนนในแต่ละปัจจัยของประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้างจากคะแนนเต็ม 5 คะแนน


1. ปัจจัยด้านประสิทธิภาพในการดำเนินงานพิธีการต่างๆของศุลกากรได้ 3.03 คะแนน
2. ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานได้ 3.16 คะแนน
3. ปัจจัยด้านการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศได้ 3.24 คะแนน
4. ปัจจัยด้านความสามารถของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ภายในประเทศ ได้ 3.31 คะแนน
5. ปัจจัยด้านความสามารถในการสืบค้นสินค้าระหว่างมีการขนส่งทางเรือได้ 3.25 คะแนน
6. ปัจจัยด้านต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศ ได้ 3.21 คะแนน
7. ปัจจัยด้านการส่งสินค้าถึงที่หมายตรงเวลา ได้ 3.91 คะแนน

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้คะแนนในปัจจัยข้อแรกน้อยที่สุด ซึ่งเราอาจจะสรุปได้ว่า ธนาคารโลกมองว่า พิธีการด้านศุลกากรของไทยยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และควรปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้มากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยด้านความสามารถในการสืบค้นสินค้า ยังเป็นอีก 2 ปัจจัยที่ธนาคารโลกมองว่าประเทศไทยยังคงต้องพัฒนา โดยต้องมุ่งเน้นพัฒนาทั้งทางด้านการคมนาคม และทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือถือว่ าประสิทธิภาพของระบบลอจิสติกส์ของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ แหล่งข้อมูล