Friday, February 27, 2009

คุณภาพการอ่าน

คุณภาพการอ่าน ไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการอ่านเร็วเท่านั้น และไม่สำคัญเท่ากับการที่ผู้เรียนสามารถย่อยแนวคิดด้วยความเข้าใจในเนื้อเรื่องและสามารถถ่ายทอดได้อย่างชาญฉลาด
This assumption indirectly evaluates students on the basis of their reading speed, a quality not necessarily as important as the ability to digest concepts and express them intelligently.
อ่านเพิ่มเติมที่ Assigned reading: quality, not quantity

เว็บค้นหาที่เป็นทางเลือกใหม่

เว็บค้นหาที่เป็นทางเลือกใหม่ (Alternative Search Engine) สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้คุณได้ผลลัพธ์ของสิ่งที่ต้องการค้นหาได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น เช่น หารูปก็จะได้รูป หาเพลงก็จะได้ฟังเพลง หาเอกสารก็จะได้ไฟล์ PDF โดยที่ไม่ต้องคลิกสารพัด
ค้นหาเพลง www.songza.com
www.midomi.com
ค้นหารูป www.compfight.com
www.spffy.com
ค้นหาเอกสาร www.data-sheet.net
ค้นหาวิดีโอ www.truveo.com
ค้นหาแบบมีรสชาติ www.viewzi.com
แหล่งข้อมูล

มูลนิธินวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจัดอันดับให้ประเทศสิงคโปร์เป็นผู้นำด้านการคิดค้นนวัตกรรม

มูลนิธินวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจัดอันดับให้ประเทศสิงคโปร์เป็นผู้นำด้านการคิดค้นนวัตกรรมและมีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกประจำปี 2009 ดึงเกาหลีใต้ลงมาอยู่อันดับ 5 เหนือกว่ายักษ์ใหญ่สหรัฐอเมริกาที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 6 ขณะที่แดนปลาดิบคว้าอันดับ 9 ในครอง

มูลนิธิ Information Technology and Innovation Foundation หรือ ITIF ประกาศอันดับประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยนอกจากสิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ประเทศอื่นๆที่ถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกประจำปี 2009 ได้แก่ อันดับที่ 2 สวีเดน, อันดับ 3 ลักเซมเบิร์ก, อันดับ 4 เดนมาร์ก, อันดับที่ 7 ฟินแลนด์ อันดับที่ 8 อังกฤษ และอันดับที่ 10 คือเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือ North American Free Trade Agreement (NAFTA) ซึ่งคลุมพื้นที่ประเทศแคนนาดา เม็กซิโก และสหรัฐฯ

ประเทศใหญ่ๆในเอเชียแปซิฟิกนั้นถูกจัดอยู่ใน 40 อันดับแรก ได้แก่ ออสเตรเลีย อันดับที่ 19, จีน อันดับที่ 33 ขณะที่อินเดียอยู่ในอันดับที่ 40 โดย 15 ประเทศยุโรปตะวันตกในกลุ่มสหภาพยุโรปหรือที่เรียกรวมว่า EU-15 นั้นถูกจัดเป็นอันดับที่ 18

ITIF เป็นองค์กรเพื่อการพัฒนาไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยการจัดอันดับประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมที่เกิดขึ้นนั้น ITIF พิจารณาจาก 16 ประเด็นก่อนจะนำคะแนนมาคำนวณเป็นดัชนีเพื่อจัดอันดับ ได้แก่ ความสามารถของทรัพยกรบุคคล ความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรม การระดมทุน โครงสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ นโยบายเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพการจัดการระบบเศรษฐกิจในประเทศ

จุดนี้ ITIF ระบุว่า หากรวบรวมดัชนีคะแนนตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 1999-2009) ประเทศจีนกลับได้คะแนนสูงสุด เหนือกว่าสหรัฐฯที่คิดเป็นลำดับที่ 40 โดยสิงคโปร์จะอยู่ในอันดับ 2 ตามมาด้วยลิธัวเนีย เอสโทเนีย เดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ก สโลวาเนีย รัสเซีย ไซปรัส และญี่ปุ่น โดยประเทศอินเดียได้อันดับที่ 14 เกาหลีใต้อยู่ที่ 17 และออสเตรเลียในอันดับที่ 32

ขณะที่ประเทศกลุ่มยุโรป EU-15 นั้นถูกจัดเป็นอันดับที่ 28 หากคำนวณคะแนนตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา

ร็อบ แอดคินสัน (Rob Atkinson) ประธาน ITIF ให้ความเห็นว่า การศึกษาครั้งนี้ยึดหลักพิจารณาความสามารถในการแข่งขันและการคิดค้นนวัตกรรมของแต่ละประเทศโดยใช้ปัจจัยหลายส่วนประกอบกัน ไม่ได้พิจารณาเฉพาะความสามารถด้านเศรษฐกิจหรือนโยบายอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากในภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน

แอดคินสันบอกว่า แม้ที่ผ่านมาสหรัฐฯจะมีศักยภาพในทุกด้านดีมากหากเทียบกับประเทศอื่นๆในโลก แต่การศึกษาพบว่ามีประเทศมากมายรวมถึงยุโรปที่มีพัฒนาการรวดเร็วกว่าสหรัฐฯ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เชื่อว่าประเทศในกลุ่ม EU-15 จะสามารถแซงหน้าสหรัฐฯในแง่ความสามารถด้านการแข่งขันเชิงนวัตกรรมได้ภายในปี 2020 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า

ไม่ใช่เพียงยุโรป กลุ่ม ITIF ระบุว่า 39 ประเทศที่เหลือใน 40 อันดับสุดยอดประเทศนวัตกรรมล้วนพัฒนาองค์ความรู้และเศรษฐกิจเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้เร็วกว่าสหรัฐฯ แน่นอนว่าผลที่เกิดขึ้นคือ ความสามารถในการแข่งขันเชิงนวัตกรรมของสหรัฐฯกำลังจะถึงช่วงขาลงหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป แหล่งข้อมูล

Wednesday, February 25, 2009

โครงการ "ตู้อักษร ซ่อนปัญญา"

นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่หนังสือพิมพ์มติชนได้ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 32 จึงร่วมมือกับมูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ มูลนิธิ บรรจง พงศ์ศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จัดทำโครงการ "ตู้อักษร ซ่อนปัญญา" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสือแก่เยาวชน และสนับสนุนหนังสือที่ดีมีคุณภาพแก่ห้องสมุดโรงเรียนที่ขาดแคลน โดยเน้นโรงเรียนที่เกณฑ์การศึกษาต่ำกว่ามาตรฐาน จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพ รวมทั้งประสาน สพฐ.เพื่อเสาะหาโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่มีผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เบื้องต้น 100 แห่ง

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงิน เพื่อซื้อหนังสือและตู้ โรงเรียนละ 1 ตู้ ตู้ละ 25,000 บาทนั้น ล่าสุดมียอดเมื่อวันที่ 24 ก.พ.พบว่ายอดบริจาคสูงถึง 5,664,898 บาท โดยสามารถบริจาคได้ถึง 226 โรงเรียน โดยเบื้องต้นมีความพร้อมในการส่งมอบหนังสือและตู้แก่โรงเรียน 100 แห่งแรก จึงจัดพิธีส่งมอบในวันนี้ก่อน ส่วนโรงเรียนที่เหลือคาดว่าจะได้รับภายในมีนาคมนี้

ด้านนายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกดีใจที่เข้ามาเป็นส่วนร่วมในโครงการ โดยเป็นหนึ่งในผู้บริจาค ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะช่วยเหลือการศึกษาและส่งเสริมการอ่านแล้ว ยังเป็นการระดมความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมต่อการศึกษา สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการส่งเสริมการอ่านนั้น ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญประการหนึ่ง โดยในสัปดาห์หน้าตนจะลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเป็นการเรียนรู้อย่างแท้จริงไปตลอดชีวิต

"ขอฝากผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกท่านที่ได้รับหนังสือพร้อมตู้ที่ไปตั้งในสถานที่ศึกษา ให้บริหารจัดการด้วยวิธีการต่างๆ ที่จะ ทำให้เด็กรักหนังสือ รักที่จะศึกษาหาความรู้และได้รับประโยชน์สูงสุดจาก ตู้อักษร ซ่อนปัญญา นี้ ตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาคและเจ้าของโครงการ" นายจุรินทร์ กล่าว

ขณะที่นายวินัย รอดจ่าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ.รู้สึกซาบซึ้งในโครงการดังกล่าว จากที่รับบริจาคจนได้เกินกว่าเป้าหมาย เพราะทราบว่าโครงการนี้ เบื้องต้นจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 100 โรงเรียนทั่วประเทศ แต่เมื่อประสานมาทาง สพฐ.เพื่อขอรายชื่อโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น ทางเราก็ดำเนินการจนแล้วเสร็จ นอกจากนี้ ขอฝากถึงผู้เกี่ยวข้องขอให้นำสิ่งที่ได้รับบริจาคไปนั้น นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนให้มากที่สุด แหล่งข้อมูล

Monday, February 23, 2009

การประชุมสุดยอดอาเซียน

Asean Summit, Thailand 2009
ประเทศไทยมีบทบาทเชิงรุกทั้งในแง่การก่อตั้งและการพัฒนาให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีความสำเร็จ เพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของภูมิภาคนี้ ในส่วนของการก่อตั้ง ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียนในปี พ.ศ. 2510 ในส่วนของการพัฒนา ไทยยังมีบทบาทที่สำคัญ ดังนี้

มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในกัมพูชา
การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) ในปี พ.ศ. 2535
ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก หรือ ARF- ASEAN Regional Forum ซึ่งเป็นเวทีที่ใช้พูดคุยปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2537
ความริเริ่มเชียงใหม่และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี พ.ศ. 2540
การที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ชะอำในปีนี้ จึงเป็นการย้อนรำลึกถึงถิ่นกำเนิดของอาเซียน และเป็นการเริ่มต้นโฉมหน้าใหม่ของอาเซียนหลังจากการมีผลบังคับใช้กฏบัตรอาเซียนตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551

หัวข้อหลักการประชุมของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 คือ "กฏบัตรอาเซียนสำหรับประชาชนอาเซียน" โดยต้องการให้ประชาชนอาเซียนเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งหมายถึงต้องการให้ความร่วมมือในกรอบต่างๆ ของอาเซียนอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยหัวย่อยอีก 3 หัวข้อ ได้แก่
1. มุ่งสู่การสร้างชุมชนที่มีประสิทธิภาพ
ไทยจะใช้โอกาสนี้ในการวางรากฐานในการไปสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 เพื่อให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีกติกาของการดำเนินงานอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยผลักดันกลไกการทำงานในหน้าที่ใหม่ของอาเซียนภายใต้กฎบัตรอาเซียน รวมทั้งการวางรากฐาน 3 เสาหลักของสภาประชาคมอาเซียนและการจัดตั้งคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา

ยกร่างการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนของอาเซียนให้เสร็จสิ้นภายในปลายปีนี้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้
เสริมสร้างความเข้มแข็งของสำนักเลขาธิการอาเซียน ทั้งในแง่งบประมาณและบุคคลากร เพื่อให้อาเซียนสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มความสามารถและเต็มความรับผิดชอบ ตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียน
สร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยนายกรัฐมนตรีและผู้นำอาเซียนจะพบปะพูดคุยกับตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ที่มีความหลากหลาย อาทิ ตัวแทนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ ตัวแทนเยาวชน และตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคม
2. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค เพื่อรับมือกับภัยคุกคามของโลกประเทศไทยต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามของโลก โดยการสร้างความเข้มแข็ง
ด้านความมั่นคงของมนุษย์ในมิติต่างๆ ในชุมชนอาเซียนเพื่อให้สามารถลดสิ่งที่กระทบความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รวมถึงการยกประเด็นของความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และการบริหารจัดการภัยพิบัติ

3. การเพิ่มบทบาทของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในภูมิภาคเสริมสร้างความพยายามในการสร้างชุมชนอาเซียน อาเซียนจะสนับสนุนให้อาเซียนเป็นศูนย์กลาง
ในการวิวัฒนาการโครงสร้างของภูมิภาค การประชุมสุดยอดผู้นำจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับอาเซียน ในการแสดงต่อประชาคมโลกว่า อาเซียนยังคงหนักแน่น สมาชิกทั้ง 10 ประเทศเป็นส่วนที่สมบูรณ์ของชุมชนเอเชียตะวันออกที่กว้างขึ้น และยังคงเป็นกลจักรสำคัญของการเติบโตในเศรษฐกิจโลกต่อไป
แหล่งข้อมูล

ธนาคารโลกทำวิจัย 150 ประเทศ วัดดัชนีระบบโลจิสติกส์

เนื่องระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะเป็นระบบที่ผลักดันให้เกิดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น โดยจะช่วยทางด้านต้นทุนในการประกอบการของธุรกิจให้ลดต่ำลง (Cost Reduction) การตอบสนองลูกค้าได้ถูกต้องและรวดเร็ว (Responsiveness & Reliability) ซึ่งจะทำให้ศักยภาพทางด้านการแข่งขันของประเทศสูงขึ้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านเคลื่อนย้ายสินค้าได้รวดเร็ว นอกจากนี้ อุตสาหกรรมกรรมทางด้านโลจิสติกส์ยังก่อให้เกิดการจ้างงาน และช่วยการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นโดยตรง

ดังนั้นการสร้างระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ภาคธุรกิจของประเทศรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันได้

ทั้งนี้ การประเมินทางด้านประสิทธิภาพโลจิสติกส์ของผู้ให้บริการทางด้านโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการ เป็นสิ่งที่จำเป็นในกระบวนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ เนื่องจาก จะเป็นการบ่งชี้แนวทางการพัฒนาได้อย่างถูกต้อง ดัชนีชี้วัดทางด้านประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index) หรือเรียกย่อๆว่า LPI จะเป็นมาตราฐานสำคัญที่จะช่วยให้การประเมินการชี้วัดประสิทธิภาพในแต่ละด้านของการพัฒนาให้เป็นไปในทางที่มีมาตรฐานและสามารถนำไปพัฒนาข้อด้อยและปัญหาที่ของระบบโลจิสติกส์ในแต่ละด้านได้ตรงจุด เพื่อประโยชน์ที่ได้รับของการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศไทยที่กำหนด LPI ของประเทศและ LPI ของผู้ประกอบการทางด้านโลจิสติกส์ในประเทศไว้อย่างชัดเจน แต่ก็มีองค์กรระหว่างประเทศซึ่งได้แก่ ธนาคารโลก (World Bank) ได้จัดทำดัชนีดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2550 โดยได้คำนึงถึงประเด็นสำคัญต่างๆที่เกี่ยวข้องขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของระบบโลจิสติกส์ของ
ประเทศต่างๆ

ธนาคารโลกได้กำหนดปัจจัยต่างๆในการวัด LPI ไว้ 7 ปัจจัย ได้แก่
1) ประสิทธิภาพในการดำเนินงานพิธีการต่างๆของศุลกากร
2) คุณภาพด้านการขนส่ง ด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
3) ความง่ายในการจัดการการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ
4) ความสามารถของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศ
5) ความสามารถในการสืบค้นสินค้าระหว่างมีการขนส่งทางเรือ
6) ต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศ และ
7) การส่งสินค้าถึงที่หมายตรงเวลา

ทั้งนี้ธนาคารโลกได้ทำการวิจัยกับประเทศทั้งหมด 150 ประเทศ และได้ทำการจัดลำดับ LPI ของแต่ละประเทศไว้ได้อย่างน่าสนใจ ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับว่า เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางโลจิสติกส์สูงที่สุดได้แก่ประเทศ
อันดับที่ 1 สิงค์โปร์ โดยหลังจากวัดผลจาก 7 ปัจจัยที่กล่าวข้างต้นแล้ว ประเทศสิงค์โปร์ ได้คะแนนรวม 4.19 จากคะแนนเต็ม 5
อันดับที่ 2 ได้แก่ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้คะแนน 4.18
อันดับที่ 3 ได้แก่ ประเทศเยอรมนี คะแนน 4.10
ตามมาด้วยประเทศ สวีเดน ออสเตรีย โดยได้อันดับที่ 4 และ 5 ตามลำดับ
สำหรับประเทศอื่นในทวีปเอเชียที่ได้คะแนน LPI สูงที่สุดได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 6

เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศยักษ์ใหญ่ซึ่งถือเป็นมหาอำนาจของโลกอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกากลับได้ LPI อยู่ในอันดับที่ 14 โดยประเทศยักษ์ใหญ่อีกประเทศซึ่งได้แก่ ประเทศจีนได้รับการจัดอันดับ LPI จากธนาคารโลกอยู่ในอันดับที่ 30 แต่ก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ถึงแม้ประเทศจีนจะเป็นประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่ระบบโลจิสติกส์ของประเทศจีน กลับยังไม่ทันสมัยเท่าที่ควร กิจกรรมทางโลจิสติกส์ส่วนมาก ยังคงเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการและควบคุมโดยรัฐบาล


ประเทศที่น่าสนใจอีกประเทศคือมาเลเซีย มาเลเซียถือว่าเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกับประเทศไทย โดยที่เราเองก็พยายามที่จะแข่งขันกับมาเลเซียในหลายๆ ด้าน บางครั้งเราอาจจะเห็นหลายหน่วยงานออกมากล่าวว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในด้านต่างๆมากว่า มาเลเซีย แต่ถ้าเราดูจาก LPI ที่ธนาคารโลกจัดอันดับมา จะเห็นได้ว่า มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 27 โดยได้คะแนนรวม 3.48


ในขณะที่ ไทยเรารั้งอันดับที่ 31 โดยได้คะแนนรวม 3.31 ดังนั้น ถ้าสรุปแบบง่ายๆจากอันดับที่ธนาคารโลกจัด อย่างน้อยเราก็มีเรื่องประสิทธิภาพทางโลจิสติกส์อย่างหนึงแล้ว ที่ด้อยกว่าประเทศมาเลเซีย คราวนี้ มาดูในรายละเอียดกันซักนิดนะครับ ว่าคะแนนในแต่ละปัจจัยของประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้างจากคะแนนเต็ม 5 คะแนน


1. ปัจจัยด้านประสิทธิภาพในการดำเนินงานพิธีการต่างๆของศุลกากรได้ 3.03 คะแนน
2. ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานได้ 3.16 คะแนน
3. ปัจจัยด้านการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศได้ 3.24 คะแนน
4. ปัจจัยด้านความสามารถของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ภายในประเทศ ได้ 3.31 คะแนน
5. ปัจจัยด้านความสามารถในการสืบค้นสินค้าระหว่างมีการขนส่งทางเรือได้ 3.25 คะแนน
6. ปัจจัยด้านต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศ ได้ 3.21 คะแนน
7. ปัจจัยด้านการส่งสินค้าถึงที่หมายตรงเวลา ได้ 3.91 คะแนน

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้คะแนนในปัจจัยข้อแรกน้อยที่สุด ซึ่งเราอาจจะสรุปได้ว่า ธนาคารโลกมองว่า พิธีการด้านศุลกากรของไทยยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และควรปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้มากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยด้านความสามารถในการสืบค้นสินค้า ยังเป็นอีก 2 ปัจจัยที่ธนาคารโลกมองว่าประเทศไทยยังคงต้องพัฒนา โดยต้องมุ่งเน้นพัฒนาทั้งทางด้านการคมนาคม และทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือถือว่ าประสิทธิภาพของระบบลอจิสติกส์ของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ แหล่งข้อมูล

Sunday, February 08, 2009

3 จีเมืองไทยยังคงต้องรอ

3 จีเมืองไทยยังคงต้องรอ 8 กุมภาพันธ์ 2552 กองบรรณาธิการไทยโพสต์

เริ่มมีการส่งสัญญาณที่ดีออกมาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมบ้างแล้ว เมื่อการประชุมของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.ในวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา

ที่ได้ใช้ระยะเวลาการประชุมถึง 8 ชั่วโมง จนในที่สุดก็ได้เคาะเลือกใช้วิธีการประกวดราคา (ออกชั่น) ในการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ย่าน 2.1 กิ๊กกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำมาพัฒนาการให้บริการ 3 จี เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่มีความโปร่งใสมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบอื่นอย่างมาก่อนได้ก่อน (First com e first serve) เลือกจากผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแล้วยื่นประกวดราคา (Beauty Contest) และไฮบริด หรือวิธีผสมระหว่างบิวตี้ คอนเทสต์ และออกชั่น

นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการ กทช.กล่าวว่า กทช. จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะใช้วิธีไหน เพราะแต่ละรูปแบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป เช่น บิวตี้ คอนเทสต์ มีข้อเสียคือ อาจถูกมองว่าลำเอียงหรือคอรัปชั่นได้ง่าย ขณะที่การประมูลนั้นจะเป็นการตีราคาคลื่นเองของผู้ขอใบอนุญาต ซึ่งหากคลื่นมีราคาแพง จะเป็นเหตุให้ผู้ใช้บริการต้องรับภาระค่าบริการที่จะเกิดขึ้นภายหลัง ทั้งนี้ หลังจากออกหลักเกณฑ์ต่างๆ แล้ว จะต้องผ่านขั้นตอนการประชาพิจารณ์ และคาดว่าจะสามารถออกใบอนุญาตได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

ทั้งนี้ เบื้องต้น กทช.จะมอบใบอนุญาต 3 จีเป็นระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป โดยผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลไทยตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ได้กำหนดไว้ แต่รายละเอียดในส่วนต่างๆ เช่น จำนวนผู้ที่จะได้รับใบอนุญาต จากที่คาดว่าจะสามารถให้ใบอนุญาต 4 ราย คือ รายใหม่ 1 ราย ส่วนที่เหลือเป็นรายเก่า โดยแบ่งคลื่นที่มีอยู่ 45 เมกะเฮิรตซ์ เป็น 10 เมกะเฮิรตซ์ 3 ราย และ 15 เมกะเฮิรตซ์อีก 1 ราย รวมไปถึงการพิจารณาระยะเวลาของใบอนุญาตให้ชัดเจนมากกว่านี้ แผนการลงทุนของผู้รับใบอนุญาต วีธีการชำระหนี้การประมูล รวมถึงต้นทุนการกำกับดูแล ที่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปออกมา ซึ่งสำนักงาน กทช.คาดใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ข้อมูลดังกล่าวน่าจะครบถ้วน

นอกจากนี้ ขณะนี้สำนักงาน กทช.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกันกับมหาวิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยชาร์มเมอร์ สวีเดน เพื่อกำหนดราคาขั้นต่ำของคลื่น 3 จี ซึ่งเรื่องนี้ นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการ กทช.กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กทช.มีมติเป็นเอกฉันท์เลือกวิธีจัดสรรคลื่นความถี่ผ่านการประมูล ซึ่งต้องมีการกำหนดราคากลางไม่สูงหรือต่ำไป เพราะจากการศึกษาการกำหนดราคาที่สูงเกินไป หากไม่สามารถปฏิบัติได้ ผู้ประกอบการก็ต้องคืนใบอนุญาต ผลกระทบก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค ในขณะที่ถ้าราคาใบอนุญาตมีราคาต่ำเกินไป รัฐจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ และตกเป็นข้อครหา ดังนั้น กทช.ต้องคำนวณจากหลายตัวแปร

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจากการตัดสินใจจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิรตซ์ล่าช้าได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการมือถืออย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้นำร่องทดลองบริการ 3 จีบนคลื่นความถี่เดิมย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ในจังหวัดเชียงใหม่และสยามพารากอน ในขณะที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ก็เตรียมพัฒนาให้บริการ 3 จีบนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์เช่นกัน ระหว่างรอ 3 จีบนคลื่นใหม่

ในที่สุดทุกคนยังคงต้องนอนรอ 3 จีคลื่นใหม่อยู่ดี ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับว่า กทช.จะสามารถสรุปรายละเอียดและกรอบต่างๆ ได้เร็วหรือไม่ โดยเฉพาะเอกชนที่คาดหวังไม่น้อย ต่างผิดหวังและบ่นกันอุบถึงผลสรุปของ กทช.ที่ถึงแม้จะมีข้อสรุปโดยเลือกใช้วิธีประมูลก็ตาม แต่รายละเอียดส่วนต่างๆ ก็ยังไม่ชัดเจนทั้งๆ ที่ใช้ระยะเวลาในการศึกษาเรื่องดังกล่าวมาไม่น้อย เพราะถ้าพูดถึงข้อดีของการมีบริการ 3 จีในขณะนี้ นอกจากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์แล้ว ยังส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการที่อยู่ต่างจังหวัดที่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือได้ ในระหว่างที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ก็ยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเมืองและสังคมต่างจังหวัด

สุดท้าย 3 จีจะเป็นไปตามแผนที่ กทช.กำหนดไว้หรือไม่ คือ มอบใบอนุญาตได้ภายในปีนี้ และสามารถให้บริการ 3 จีได้ประมาณปี 2553 คงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไม่น้อย ประกอบกับถ้า กทช.สามารถพิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง (ไวแมกซ์) และเลขหมายเดียวทุกระบบ (นัมเบอร์พอร์ทิบิลิตี้) เพื่อให้ทันในปีนี้เช่นกัน คงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไม่น้อย และคงเป็นจุดเปลี่ยนให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไอทีให้กระเตื้องขึ้นอีกรอบหลังจากหยุดนิ่งมานาน.