ในโอกาสที่สมาคมประชาชาติอาเซียนจะก้าวสู่ขั้นตอนใหม่ มีกฎบัตรร่วมกัน (ASEAN Charter) ซึ่งมิได้มีแต่มิติเศรษฐกิจและการเมืองเท่านั้น การเน้นมิติสังคมมนุษยธรรมโดยเฉพาะเน้นให้อาเซียนเป็นประชาคมที่เอื้ออาทรหรือร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน (Caring) และการเป็นสังคมแบ่งปันกัน (Sharing) จึงมีความสำคัญสูงยิ่ง
แหล่งข้อมูล
1.บริบทกระแสโลกาภิวัตน์ที่ผ่านมามีลักษณะสำคัญ คือ
1) เร่งรัดมากแต่มีความไม่แน่นอนอย่างมาก ระยะหลังมานี้เผชิญวิกฤตการเงินซึ่งเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาแต่กระทบไปทั่วโลก วิกฤตครั้งนี้คาดว่าจะมีผลกระทบให้ต้องชะลอความเร็วเร่งรุดด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจลงบ้าง และจำต้องมีการกำกับดูแลโดยรัฐและสังคมอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ
2) โลกาภิวัตน์ที่ผ่านมาขับเคลื่อนโดยกลไกตลาด มุ่งเป้าหมายตลาดเดียว แหล่งลงทุนรวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะอย่างเสรี การมุ่งหน้าบรรลุเป้าเช่นนี้ อีกนัยหนึ่งเป็นการมุ่งการบูรณาการทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก การแข่งขันก็ทวีความเข้มข้น
3) การพัฒนาภายใต้โลกาภิวัตน์เศรษฐกิจนำ กลายเป็นการพัฒนามิติเดียว แต่กลับไปส่งเสริมให้เกิดภาวะขาดดุลแม้บางกรณีอาจมิได้มีความตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นเลย
ได้แก่ ภาวะขาดดุลด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ขาดดุลด้านธรรมาภิบาลและประชาธิปไตย ขาดดุลด้านความเป็นธรรมทางสังคมและจริยธรรมในการพัฒนา
2.ปัญหาความรู้เท่าทันด้านสังคมตามไม่ทันการเมืองแบบผลประโยชน์
1) ช่องว่างในการรับรู้ (Perception Gap) ระหว่างความนึกคิดกับความเป็นจริง การพัฒนาที่ผ่านมาในความเป็นจริงมิได้เป็นไปดังที่นึกคิดกันมา เพราะมีมิติภูมิภาคที่เศรษฐกิจไทยเราต้องเกี่ยวข้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างแยกไม่ออก การพัฒนาเกิดมาได้เพราะเกิดในบริบทที่กว้างกว่าประเทศ มีมิติภูมิภาคยานุวัตน์ (Regionalization) ด้วย ประเทศเราพัฒนามาได้เพราะเราอาศัยแรงงานต่างด้าวถึงร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานทั้งหมดในประเทศ (ประมาณ 3.5 ล้านคน) เราพัฒนามาได้ก็อาศัยพลังงานต่างแดน เพราะเราสร้างเขื่อนในแผ่นดินไทยไม่ได้ แต่เรายังต้องการบริโภคไฟฟ้าอีกมาก และพึ่งพาทรัพยากรคนอื่นมาตลอด
2) ผู้ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจเอกชนมีจำนวนมากกว่าและมีความเข้มแข็งกว่าผู้ขับเคลื่อนทางด้านสังคมและวัฒนธรรม
3) ปัญหาช่องว่างของแรงจูงใจ แรงจูงใจด้านเศรษฐกิจ (ใช้ประโยชน์และหากำไร) มีพลังมากกว่าแรงจูงใจด้านร่วมทุกข์ร่วมสุข (Solidarity) มิหนำซ้ำโลกทรรศน์แบบสงครามเย็นยังมีอิทธิพลตกค้างอยู่ไม่น้อยในการเมืองเพื่อนบ้าน ในอดีตภายใต้ภาวการณ์มีสงครามเย็นทำให้เรามีหลักความคิดอยู่ว่า เมื่อเพื่อนบ้านอ่อนแอ เราจะดีใจหรืออย่างดีหน่อยก็มองเห็นเขาเป็นตลาดขายสินค้าของเราเท่านั้น
4) ปัญหาช่องว่างด้านความรู้ความเข้าใจ (knowledge Gap) กับสถานภาพของไทย กล่าวคือระหว่างความคาดหวังต่อไทยในฐานะประเทศผู้นำกับสำนึกรู้ต่อบทบาทของตนที่มีมิติรับผิดชอบต่อภูมิภาค นอกจากนี้มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนยืนยันว่า ระดับของความรู้และความไม่อยากรู้เรื่องเพื่อนบ้าน รวมทั้งภาษาเพื่อนบ้านของเยาวชนไทยนั้นเกือบเป็นที่โหล่เมื่อเทียบกับบรรดาสมาชิกของอาเซียนด้วยกัน