Knowledge Economy
What is KM?
Defining the knowledge economy
สังคมเศรษฐกิจความรู้
ความรู้เป็นปัจจัยพื้นฐานของทุน ในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันKnowledge-Based Economy ซึ่งมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น Knowledge-Based Societies, Knowledge Economy, Personalized Economy, New Global Economy, Learning Economy, Flexible Specialization ฯลฯ โดยกลุ่มที่ 1 ส่วนใหญ่หมายถึง Knowledge-Based Economy อันได้แก่ การที่ความรู้ (Knowledge) เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบยั่งยืน ในขณะที่ยังไม่ได้มีการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งเราอาจได้ยินในชื่อ เศรษฐกิจพึ่งพาความรู้ วิทยเศรษฐกิจ เศรษฐกิจแห่งปัญญาและการเรียนรู้ ในที่นี้จะขอเรียก Knowledge-Based Economy ว่าสังคมเศรษฐกิจความรู้
ความหมายหรือแนวคิดเรื่องสังคมเศรษฐกิจความรู้ขององค์การเวทีระหว่างประเทศ ได้แก่
1. องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) OECD ใช้คำว่า Knowledge-Based Economy ในการเรียกสังคมเศรษฐกิจความรู้ โดยเน้นมิติทางเศรษฐกิจมากว่ามิติด้านอื่นๆ ในการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้ มีเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้ เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน มีความรู้เป็นปัจจัยการผลิตและการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดของการพัฒนา ความมั่งคั่งของเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการสร้างความรู้ และระดับการไหลเวียนของความรู้ในระบบเศรษฐกิจ
2. ธนาคารโลก (The World Banks) ธนาคารโลกมองว่าศูนย์กลางของปัญหาการพัฒนาคือปัญหาเกี่ยวกับความรู้ โดยเงินเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง ในขณะที่การมีความรู้และรู้ว่าจะต้องทำอะไร เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบแบบยั่งยืนในสังคมเศรษฐกิจความรู้ คือความสามารถในการเรียนรู้ได้รวดเร็วกว่าคู่แข่ง
3. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) ECOSOC ใช้คำหลายคำเรียกสังคมเศรษฐกิจความรู้ เช่น Knowledge-Based Economy, Society Digital economy และ Information and knowledge society ในการประชุมและดำเนินการในเรื่องการพัฒนากับความร่วมมือระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 21 โดยมีแนวทางหลักว่าความรู้และข้อมูลข่าว-สารเป็นหัวใจสำคัญของสังคมเศรษฐกิจความรู้และเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดสิ่งต่างๆ คือ (1) การเปลี่ยนแปลงของการแบ่งงานระหว่างประเทศ (2) ก่อให้เกิดแบบแผนใหม่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (3) ขีดความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจและของบริษัทเอกชน (4) ก่อให้เกิดแบบแผนของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแนวใหม่ (5) ก่อให้เกิดสินค้าใหม่ที่ไม่เคยรู้จัก (6) สร้างงานชนิดใหม่ (7) ก่อให้เกิดวิถีชีวิตแนวใหม่ ทั้งนี้ การเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจความรู้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจระหว่างผู้นำชาติ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจและประชาชนโดยส่วรรวม ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จในการเข้าสู่และพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ (1) ภาวะผู้นำ (Leadership) (2) วิสัยทัศน์ (Vision) (3) การกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ที่มีเอกภาพและประสานสอดคล้องกัน (Articulation of policies and a coherent strategy) (4) การดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ ( Efficient implementation)
4. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) APEC ได้ให้ความหมายของสังคมเศรษฐกิจความรู้ (Knowledge-based economy) หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่ระบบการผลิต การกระจายสินค้า/บริการและการใช้ความรู้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างความมั่งคั่งและการจ้างงาน APEC ยังกล่าวอีกว่า Knowledge-based economy นั้น เป็นยิ่งกว่า New economy หรือ Information economy โดยที่ Knowledge-based economy ที่แท้จริงนั้น ทุกภาคของสังคมและระบบเศรษฐกิจต้องพึ่งพาความรู้สูง (Knowledge-intensive) มิใช่พึ่งพาเทคโนโลยีระดับสูงแต่เพียงอย่างเดียว และจากรายงาน "Building for The New Economy” ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมอาวุโส APEC อย่างไม่เป็นทางการ (Informal SOM) ครั้งที่ 12 ณ ประเทศบรูไน ยังแสดงให้เห็นถึงแตกต่างและความเกี่ยวข้องระหว่าง Knowledge-based economy กับ New economy โดย New economy เน้นที่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่ Knowledge-based economy ให้ความสำคัญแก่การใช้ความรู้ในทุกภาคของระบบเศรษฐกิจ แต่ทั้งสองแนวคิดก็มีรากฐานจุดมุ่งหมายเดียวกัน ในอันที่จะเสริมสร้างมูลค่าเพิ่ม และประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ โดยความความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้เสริมให้แนวทางของ knowledge-based economy มีความเด่นชัดขึ้น จากการที่การแสวงหาและกระจายความรู้ได้รับการสนับสนุนจากการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เนตที่มากขึ้น
การแบ่งกลุ่มองค์ประกอบและมิติของการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. เป้าหมายของการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้ หากประเทศหรือระบบเศรษฐกิจใดตัดสินใจที่จะพัฒนาไปสู่สังคมเศรษฐกิจความรู้แล้ว ขั้นตอนแรกคงจะต้องกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้ว่าจะเน้นเป้าหมายในเรื่องใดบ้าง เช่น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการพัฒนาแบบยั่งยืนและการขจัดความยากจน เป็นต้น
2. องค์ประกอบร่วมของการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้ การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาก็ตาม ได้มีองค์ประกอบและมิติร่วมหลายประการ อันได้แก่
(1) การกำหนดนิยามและขอบเขตความรู้และการพัฒนาความรู้ (Knowledge development) ซึ่งแต่ละประเทศต้องกำหนดนิยามและขอบเขตดังกล่าวให้สอดคล้องกับเป้า-หมายของการพัฒนา สภาพพื้นฐานทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งสภาพปัญหาของประเทศหรือระบบเศรษฐกิจสังคมนั้น ๆ
(2) การกำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วย ICTs เพื่อการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้ รวมทั้งการสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศแห่งชาติ (National information infrastructure / NII)
(3) การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาสนับสนุนการสร้างความรู้ การใช้ความรู้และการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายการวิจัยแห่งชาติ
(4) การกำหนดกลยุทธ์การศึกษา รวมทั้งกลยุทธ์เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้และการเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ ต้องมีนโยบายการพัฒนาทุนมนุษย์ ขีดความสามารถทางสังคม
(5) กลยุทธ์การพัฒนาพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) รวมทั้งการพัฒนาสังคมสารสนเทศ (Information society)
(6) การพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีพื้นฐานของความรู้ (Knowledge-based industries/KBI) ซึ่งอาจมีประเด็นพิจารณา เช่น พิจารณาว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมใดบ้างไปสู่ KBI และจะพัฒนา KBI ให้มีสัดส่วนเท่าใดของโครงสร้างอุตสาหกรรมและของ GDP
(7) การสร้างและพัฒนาพลังและระบบการกระจายความรู้ (Knowledge distribution power/systems) ซึ่งจะต้องพิจารณาการสร้างเครือข่ายความรู้ (Knowledge network) เพื่อให้ทุกหน่วยของสังคมสามารถเข้าถึงความรู้ได้ รวมทั้งการพัฒนาระบบเรียนรู้ร่วมกัน (Knowledge sharing) และการจัดการความรู้ (Knowledge management)
(8) การสร้างและพัฒนาดัชนีความรู้ (Knowledge indicators) เพื่อชี้วัดความรู้ องค์ประกอบและระดับความก้าวหน้าในการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้
(9) กลยุทธ์และขั้นตอนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งต้องพิจารณาถึงกลยุทธ์และขั้นตอน ตลอดจนเงื่อนไขในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ไม่ให้การเปิดเสรีดังกล่าวมีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ
(10) ความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการพัฒนาความรู้และองค์ประกอบของการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความรู้ระดับโลก (World knowledge network)
(11) กลยุทธ์ใหม่ของอุตสาหกรรมและบริษัท รวมทั้งกลยุทธ์ใหม่ด้านการตลาด ซึ่งภาคธุรกิจและเอกชนต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวอย่างรวดเร็ว
3. องค์ประกอบอื่น ๆ ของการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้ องค์ประกอบและมิติอื่น ๆ ของการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจความรู้เป็นองค์ประกอบและมิติที่อาจจำเป็นหรือเหมาะสมกับประเทศหนึ่ง แต่อาจมีลำดับความสำคัญน้อยหรือเป็นขั้นตอนที่ยังอยู่ไกลเกินไปสำหรับประเทศอื่น ๆ องค์ประกอบอื่น ๆ เหล่านั้น เช่น
-เศรษฐกิจใหม่ (New economy) ซึ่งมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสูง และเน้นมิติทางเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมิติการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจใหม่อาจเป็นระเบียบวาระของประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอาจเลือกเพียงบางเรื่องของเศรษฐกิจใหม่ เช่นการทำธุรกิจอินเตอร์เนต มาเป็นระเบียบวาระในการพัฒนาของตน
-ระบบความรู้ทางการเกษตร (Agricultural Knowledge system/AKS) ซึ่งอาจมีความจำเป็นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอาจมีระเบียบวาระและจุดเน้นของการพัฒนา AKS ที่แตกต่างไปจาก AKS ของประเทศกำลังพัฒนา
-ความรู้กับการพัฒนาแบบยั่งยืน (Knowledge and sustainable development) ซึ่งโดยทั่วไปความรู้กับการพัฒนาแบบยั่งยืนจะเป็นหัวข้อหรือระเบียบวาระการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา เช่น ความรู้กับสิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณสุข ระบบข้อมูลทางการเงินการธนาคาร และการพัฒนาประชาธิปไตยและการบริหารการจัดการ (Governance) เป็นต้น
- มิติด้านการค้าระหว่างประเทศ และการเปิดเสรีหรือเจรจาความตกลงเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Agreement) ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศต้องตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมการเจรจาและการเปิดเสรีหรือไม่ ในระดับใด
สังคมเศรษฐกิจความรู้ในประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มมีความตื่นตัวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจใหม่มากขึ้น โดยทั้งภาครัฐและเอกชนต่างตระหนักถึงความสำคัญของการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐซึ่งจะต้องมีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมาได้ริเริ่มแผนงาน/โครงการต่าง ๆ ไปบ้างแล้ว โดยมีส่วนหนึ่ง ดังต่อไปนี้
• คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (National Information Technology Committee) จัดตั้งขึ้นในปี 2535 โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีหน้าที่หลักคือเสนอแนะนโยบายและแผนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการทั้งสิ้น 18 ชุด เพื่อให้ครอบคลุมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศในด้าน ต่าง ๆ เช่น การพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างบรรยากาศให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการดำเนินงานต่าง ๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน โทรคมนาคม การปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมการผลิต การบริการ การวิจัยและพัฒนาให้มีเทคโนโลยีด้านสารสนเทศขึ้นในประเทศไทย
• การจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำหนดนโยบายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ – กนศ.) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2540 ซึ่งทำหน้าที่ในการพัฒนา รวมทั้งกำหนดท่าทีและนโยบายของประเทศไทยในการเจรจาเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเวทีการค้าระหว่างประเทศ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
• การจัดตั้งศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Commerce Resource Center : ECRC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวม เผยแพร่ข้อมูลและความคืบหน้าของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่อสาธารณะ ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมทั้งสร้างความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
• โครงการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ (โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541) เพื่อศึกษาและยกร่างกฎหมายที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย 5 ฉบับ โดยมีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ กฎหมายเหล่านี้ได้แก่
o ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
o กฎหมายลำดับรองของรัฐธรรมนูญ มาตรา 78
o กฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์
o กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
o กฎหมายเกี่ยวกับการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
• โครงการสร้างวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานภาครัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้าราชการระดับสูง (ระดับ 9 – 11) มีความรู้ความเข้าใจ มองเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนในการพัฒนาโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กร โดย เชื่อมโยงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปในกระบวนการทำงานที่มีเป้าหมายอยู่ที่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และการบริการที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชน
• โครงการพัฒนาสร้างอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม โดยมี NECTEC และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ มี วัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและพัฒนาสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมของอุปกรณ์โทรคมนาคมไปผลิตเป็นอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าและเพื่อเป็นสินค้าส่งออก โดยมีเครื่องหมายการค้าเป็นของไทย (Thai Brand Name)
• โครงการสำนักบริการสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) หรือ Government Information Technology Service (GITS) เป็นโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อสร้างเครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ (Government Information Network : GINet) ให้สามารถบริการด้านการสื่อสารข้อมูลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่รหัสทางไกลทั่วประเทศไทยพร้อมกับการพัฒนาระบบสำคัญ ๆ ที่ต้องใช้งานระหว่าง หน่วยงานของรัฐ เช่น ระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์แบบปลอดภัยและลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมต่อเครือข่ายความเร็วสูงระหว่างหน่วยงาน การแจ้งเวียนเอกสารราชการ การปรับปรุงระบบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ เป็นต้น
• โครงการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software Park) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศไทยพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นใช้เองและลดการนำเข้า
• โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยเฉลิมพระเกียรติ (School Net) เนื่องในวโรกาสฉลองงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีเป้าหมายให้โรงเรียนมัธยมทุกโรงเรียนสามารถใช้อินเตอร์เน็ตหาความรู้ได้ อบรมครูและ นักเรียนให้รู้จักวิธีใช้และดูแลระบบ การบริการเครือข่าย ให้โรงเรียน 5,000 โรงเรียนเข้าระบบอินเตอร์เน็ตได้ฟรีจากทั่วราชอาณาจักร โดยไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ทางไกล ทั้งนี้เพื่อเตรียมการ รองรับการใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไป
นอกจากนี้ประเทศไทยยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา E-Commerce ในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ เช่น
• ความร่วมมือด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (e-ASEAN Initiative) ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2542 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ได้เห็นชอบให้มีการดำเนินความร่วมมือด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน โดยเสนอให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีด้านสินค้า บริการ และการลงทุนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร ภายใต้ความตกลงด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (e-ASEAN Agreement) โดยมีคณะทำงานเฉพาะกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน ซึ่งคณะทำงานเฉพาะกิจดังกล่าว ได้ทำหน้าที่ศึกษานโยบายและดำเนินการสาระของโครงการอาเซียนอิเล็กทรอนิกส์ไว้ 5 เรื่องคือ (1) การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศของอาเซียน ซึ่งจะต้องมีการวางผังโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (ASEAN backbone) รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลของอาเซียน (2) การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการผลักดันให้เกิดความมั่นใจในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ อาทิเช่น การมีกฎหมายรองรับ การมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานสากล เป็นต้น (3) การเปิดเสรีด้านการค้า การบริการและการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยในด้านการค้าจะต้องลดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องให้เหลือร้อยละ 0 ทางด้านบริการจะเน้นการเปิดเสรีทางด้านบริการโทรคมนาคมและบริการวิชาชีพ ทางด้านการลงทุนจะเปิดให้ประเทศในอาเซียนสามารถลงทุนในด้านการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยเสรีมากขึ้น (4) ด้านสังคม จะเน้นให้เกิดสังคมอิเล็กทรอนิกส์กล่าวคือ สังคมอาเซียนจะสามารถใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง (5) การสร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะเน้นการให้บริการประชาชนโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่น การเสียภาษีผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การจดทะเบียนการค้า พิธีการศุลกากร
• สำหรับกรอบเอเปค ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน ณ กรุงบันดาร์เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ได้ให้ความสำคัญกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างมาก โดยเน้นให้มีการเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก การมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และการจัดทำกรอบกฎหมายที่สอดคล้องกัน โดยให้พิจารณานำเอากฎหมายของ UNCITRAL เป็น แม่แบบ นอกจากนั้น ไทยเสนอให้มีการรวบรวมสิ่งที่ได้ดำเนินการอยู่ในเอเปคในเรื่องเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้เห็นภาพรวมและสามารถจัดลำดับความสำคัญ และกำหนดทิศทางการดำเนินงานต่อไปได้ รวมทั้งให้มีการสำรวจความต้องการของประเทศสมาชิกกำลังพัฒนา เพื่อจัดทำกรอบ ความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาค และแผนงานของแต่ละสมาชิก ตลอดจนให้ประสานกับองค์การการค้าโลก เกี่ยวกับงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการดำเนินงานอยู่แล้วใน WTO ด้วย
(ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ Knowledge-Based Economy http://www.dtn.moc.go.th/web/98/125/know.asp)
ในสังคมเศรษฐกิจความรู้ “ความรู้” เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตที่ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบยั่งยืน
ส่วนคำว่า “เศรษฐกิจใหม่” (New Economy) คือ ระบบเศรษฐกิจซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น Digital Economy, Internet Economy, Impulse Economy
องค์ประกอบสำคัญในการส่งเสริมสังคมเศรษฐกิจความรู้ คือ
1. ด้านเศรษฐกิจ
2. ด้านระบบการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ
3. ด้านการศึกษา
4. ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ