Saturday, August 15, 2009

การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ

มติคณะรัฐมนตรี -- พฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2009 15:43:58 น.
คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องการส่งเสริมการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แล้วมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. กำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ
2. กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็นวันรักการอ่าน
3. กำหนดให้ปี พ.ศ. 2552 — 2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นกลไกขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านให้เกิดเป็นรูปธรรม
การส่งเสริมการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีสาระสำคัญดังนี้
1. วิสัยทัศน์ คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาความสามารถและปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเพิ่มขึ้น ด้วยบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านเพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2. พันธกิจ
(1) ปลูกฝังคุณค่าการอ่านทุกรูปแบบ เพื่อเป็นวิถีในการค้นหาความรู้ และเรียนรู้ตลอดชีวิต แก่คนไทยทุกวัย
(2) พัฒนาความสามารถในการอ่าน เขียน และสื่อสารเชิงคิด วิเคราะห์ของคนไทยเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
(3) พัฒนาสื่อ กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และสร้างพื้นที่การอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
(4) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์
3. เป้าหมาย คนไทยได้รับการพัฒนาความสามารถในการอ่านและการรู้หนังสือ ภายในปี พ.ศ. 2555 โดยมีเป้าหมาย ดังนี้
(1) ประชากรวัยแรงงานที่เป็นผู้รู้หนังสือในระดับใช้งานได้ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 97.21 เป็นร้อยละ 99.00
(2) ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปที่สามารถอ่านออกเขียนได้มีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 92.64 เป็นร้อยละ 95.00
(3) ค่าเฉลี่ยในการอ่านหนังสือของคนไทยเพิ่มขึ้นจากปีละ 5 เล่ม เป็นปีละ 10 เล่มต่อคน
(4) แหล่งการอ่านได้รับการพัฒนาและเพิ่มจำนวนให้สามารถจัดบริการได้ครอบคลุมทุกตำบล/ชุมชน อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
(5) การสร้างภาคีเครือข่ายการอ่านเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน
4. ยุทธศาสตร์
(1) พัฒนาคนไทยให้มีความสามารถในด้านการอ่าน โดยรณรงค์การอ่านเขียนภาษาไทย ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทย รวมทั้งบริหารจัดการและสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาความสามารถในด้านการอ่านของคนไทย
(2) พัฒนาคนไทยให้มีนิสัยรักการอ่าน โดยปลูกฝังและสร้างทัศนคติคนไทยให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของการอ่านหนังสือและสื่อทุกรูปแบบ ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเป็นภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน และกำหนดมาตรการจูงใจให้ภาคีเครือข่ายร่วมส่งเสริมการอ่านในสังคมไทย
(3) สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมการอ่าน โดยแสวงหาภาคีเครือข่ายในการ เสริมสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อม พัฒนาและเพิ่มจำนวนแหล่งการเรียนรู้ให้สามารถจัดบริการได้ครอบคลุมทุกตำบล/ชุมชน อย่างทั่วถึง ทันสมัย และมีคุณภาพ เพื่อทำให้การอ่านเป็นที่สนใจมากขึ้น
5. งบประมาณ
(1) งบประมาณสนับสนุนจากโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของกระทรวงศึกษาธิการ
(2) งบประมาณปกติของหน่วยงานและภาคีเครือข่าย

แหล่งข้อมูล