Friday, October 24, 2008

ยกเครื่องการเงินโลก

อียูจี้เอเชียร่วมยกเครื่องการเงินโลก
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม สำนักข่าวเอพีรายงานจากกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน สถานที่จัดการประชุมสุดยอดเอเชียยุโรป (อาเซม) ซึ่งจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ตุลาคม ว่า นายโจเซ บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) แถลงต่อสื่อมวลชนเรียกร้องให้เอเชียเข้าร่วมในการดำเนินความร่วมมือระดับโลก เพื่อยกเครื่องระบบการเงินโลกทั้งระบบใหม่หมด ซึ่งเชื่อว่าเป็นหนทางเดียวที่จะบรรเทาวิกฤตการเงินโลกอย่างที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ และป้องกันไม่ให้วิกฤตทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยนายบาร์โรโซชี้ว่า วิกฤตหนนี้ถือว่าเลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี ทำให้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ทั้งระบบ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ ประสานงานระหว่างประเทศทุกประเทศทั่วโลกในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และต้องการให้เอเชียทั้งภูมิภาคเข้าร่วมด้วย
"เหตุผลนั้นเข้าใจได้ง่ายมาก เราจะว่ายน้ำไปด้วยกันหรือจะจมลงไปพร้อมๆ กัน ก็ต้องเลือกเอา" นายบาร์โรโซย้ำ ทั้งนี้ ประธานกรรมาธิการอียูซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโปรตุเกสมาก่อนหน้านี้ ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอของอียู แต่ระบุว่า หนทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการแห่งความโปร่งใส ความรับผิดชอบ การกำกับดูแลนอกอาณาเขตประเทศ และหลักการแห่งธรรมาภิบาลในระดับโลก โดยยอมรับว่า ประเด็นวิกฤตเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องหลักที่จะครอบงำการประชุมอาเซมครั้งนี้ตลอดทั้ง 2 วัน
นายบาร์โรโซเป็นหนึ่งในผู้นำหลายประเทศในยุโรปที่ทะยอยเดินทางเข้ากรุงปักกิ่งเพื่อการประชุมสุดยอดอาเซม รวมทั้ง นางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นิโกลาส์ ซาร์โกซี่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่จะเดินทางถึงก่อนพิธีเปิดการประชุมในวันที่ 24 ตุลาคมเล็กน้อย พร้อมทั้ง นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหลายประเทศเดินทางมาถึงแล้วรวมทั้งนายจอห์น แมคกินเนส รัฐมนตรีการค้าและพาณิชย์ของไอร์แลนด์ ที่แสดงความคาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้น่าจะมีทางแก้วิกฤตโดยรวม เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตที่โลกกำลังเผชิญอยู่


การประชุมครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่สภาวะวิกฤตทั่วโลกเริ่มส่อเค้ารุนแรงมากขึ้นตามลำดับ หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกาลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงในหลายประเทศทั่วโลก ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งหลายและก่อให้เกิดวิกฤตตามมาในอีกหลายประเทศรวมทั้งในเอเชีย ซึ่งเดิมเชื่อกันว่าจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากนัก แต่กลับเผชิญความยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ ในการรับมือกับวิกฤตหนนี้ จนเป็นเหตุให้เกาหลีใต้ต้องประกาศแผนใช้เงินสูงถึง 130,000 ล้านดอลลาร์ สร้างเสถียรภาพให้กับตลาดเงิน ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี ดัชนีหุ้นนิกเกอิของญี่ปุ่นผันผวนอย่างหนัก และทำสถิติลดลงในวันเดียวมากที่สุดกว่า 11 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สิงคโปร์ยอมรับว่าเศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะถดถอยแล้ว นายมันโมหัน สิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ยอมรับระหว่างการแถลงข่าวที่ญี่ปุ่นก่อนหน้าเดินทางถึงปักกิ่งว่า อินเดียจะเผชิญกับภาวะชะลอตัวครั้งใหญ่ ในขณะที่ เศรษฐกิจของปากีสถานกำลังตกอยู่ในภาวะใกล้ล้มละลายจนต้องร้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แล้ว

ถกวันแรกข้อเสนอปินส์ตั้งกองทุน

การประชุมอาเซมที่มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 45 ประเทศ จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการด้วยการหารือระหว่างการรับประทานอาหารเช้าของผู้นำ 10 ชาติอาเซียนกับจีน ,ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่อาจมีการหารือถึงข้อเสนอของฟิลิปปินส์ ให้จัดตั้งกองทุนเงินทุนสำรองเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศที่เกิดวิกฤต ก่อนที่จะมีพิธีเปิดการประชุมโดยประธานาธิบดีหู จิ่น เทา ของจีน การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการอุ่นเครื่องครั้งสำคัญก่อนที่หลายประเทศจะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ จี 20 ตามคำเชิญชองประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐอเมริกาในกรุงวอชิงตัน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน 11 วัน หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดลง เพื่อทบทวนความคืบหน้าผลการออกมาตรการต่างๆ ที่สหรัฐออกมาก่อนหน้านี้


อนึ่ง กลุ่ม จี 20 ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 ประกอบด้วยสมาชิก 27 ประเทศ กลุ่มแรกคือ กลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ หรือกลุ่ม จี 7 (สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ญี่ปุ่น และเยอรมนี) และ สหภาพยุโรปที่เหลือเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ขนาดใหญ่จากทั่วโลก คือ อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เม็กซิโก, รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, เกาหลีใต้, แอฟริกาใต้ และ ตุรกี
อ่านรายละเอียด