Wednesday, March 11, 2009

คนที่มีระดับไอคิวสูงมีแนวโน้มมีชีวิตยืนยาวและสุขภาพแข็งแรงกว่า

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก และสภาวิจัยทางการแพทย์ในกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ ได้ติดตามผลกลุ่มตัวอย่าง 7,414 คนทั่วประเทศเป็นเวลา 20 ปี ในการศึกษาที่ตอกย้ำว่าสุขภาพจิตที่ดีส่งผลให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงด้วยเช่นกัน
นักวิจัยชี้ว่าเวลาในการตอบสนองของคนเราเป็นมาตรวัดระดับความเฉลียวฉลาด ซึ่งในทางกลับกันถือเป็นดัชนีบ่งชี้ความสมบูรณ์ของร่างกาย หรือการประสานงานของอวัยวะส่วนต่างๆ
“ผลการศึกษาของเราบ่งชี้ว่าเวลาในการตอบสนอง ซึ่งบ่งชี้ถึงระดับสติปัญญา เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ซึ่งรวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารอินเทลลิเจนซ์สัปดาห์นี้ ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ให้ความสำคัญกับเวลาในการตอบสนองและการเสียชีวิต โดยเปรียบเทียบกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา
ผู้จัดทำรายงานระบุว่ามีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่าคนที่มีระดับไอคิวสูงมีแนวโน้มมีชีวิตยืนยาวและสุขภาพแข็งแรงกว่า
แม้ข้อเท็จจริงนี้ส่วนหนึ่งสามารถอธิบายได้จากความแตกต่างของรูปแบบการใช้ชีวิต เนื่องจากคนฉลาดมีแนวโน้มน้อยที่จะสูบบุหรี่และน้ำหนักเกิน แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีคำอธิบายข้อแตกต่างอื่นๆ อีกหลายอย่าง
อาสาสมัครในการศึกษานี้ถูกติดตามผลมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980 โดยมีการวัดเวลาในการตอบสนองด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับหน้าจอขนาดเล็กและปุ่มตัวเลขห้าปุ่ม
อาสาสมัครต้องกดปุ่มตัวเลขให้ตรงกับตัวเลขที่ปรากฏบนหน้าจอ โดยนักวิจัยจะวัดระยะเวลาในการตอบสนองและคำนวณค่าเฉลี่ยออกมา
นับจากนั้นจนสิ้นสุดการติดตามผลพบว่าอาสาสมัครเสียชีวิต 1,289 ราย ในจำนวนนี้มีสาเหตุจากโรคหัวใจ 568 ราย
จากนั้น นักวิจัยนำเวลาในการตอบสนองของผู้ที่เสียชีวิตและผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ น้ำหนักตัว และปัจจัยอื่นๆ
ผลการศึกษาพบว่าคนที่ตอบสนองช้ามีแนวโน้มเสียชีวิตก่อนวัยด้วยสาเหตุต่างๆ เพิ่มขึ้น 2.6 เท่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเดียวที่เชื่อมโยงกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเสียชีวิต กล่าวคือทำให้อาสาสมัครมีแนวโน้มเสียชีวิตก่อนวัยเพิ่มขึ้น 3.03 เท่า
การออกกำลังกาย ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ สัดส่วนเอวและสะโพก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และดัชนีมวลกาย มีผลต่อเรื่องนี้น้อยกว่า
ในบรรดาสาเหตุต่างๆ ของการเสียชีวิต โดยเฉพาะโรคหัวใจ เวลาในการตอบสนองเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดรองจากความดันโลหิต
นักวิจัยเชื่อว่าเวลาในการตอบสนอง ซึ่งเป็นมาตรวัดความเร็วของความสามารถในการประมวลผลข้อมูลของสมอง อาจเป็นตัวบ่งชี้ระดับความสมบูรณ์ของระบบต่างๆ ในร่างกาย แหล่งข้อมูล