Saturday, March 28, 2009

การบินไทยปิดฉากดอนเมือง (อีกครั้ง)

การบินไทยปิดฉากดอนเมือง

พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า เที่ยวบินสุดท้ายที่จะให้บริการที่สนามบินดอนเมืองวันที่ 28 มี.ค.2552 นี้คือเที่ยวบินทีจี 1047 จากขอนแก่น-ดอนเมือง โดยออกจากขอนแก่นเวลา 19.45 น. ถึงบินดอนเมือง เวลา 20.40 น. ส่วนเที่ยวบินสุดท้ายที่จะออกจากสนามบินดอนเมืองคือเที่ยวบิน ทีจี 1124 เส้นทางดอนเมือง-เชียงใหม่ ออกจากสนามบินดอนเมืองเวลา 22.15 น. ถึงสนามบินเชียงใหม่เวลา 23.25 น.

ส่วนเที่ยวบินที่เดิมต้องลงที่สนามบินดอนเมืองจำนวน 5 เที่ยวบินได้มีการย้ายมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิได้แก่ ทีจี 1015 เส้นทางอุดรธานี-สุวรรณภูมิ, ทีจี 1141 เส้นทางเชียงราย-สุวรรณภูมิ, ทีจี 1165 เส้นทางพิษณุโลก-สุวรรณภูมิ, ทีจี 1236 หาดใหญ่-สุวรรณภูมิ, ทีจี 1274 เส้นทางสุราษฎร์ธานี-สุวรรณภูมิ
โดยเที่ยวบินแรกที่จะออกจากสนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 29 มี.ค. คือทีจี 020 เส้นทางบิน สุวรรณภูมิ-อุบลราชธานี ออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเวลา 06.00 น. ถึงอุบลราชธานีเวลา 07.05 น.
อ่านรายละเอียด
ปิดดอนเมือง แห่อาลัยแน่น 2549

Wednesday, March 25, 2009

สารสกัด "พญายอ" มีสรรพคุณทำลายเชื้อเริม-งูสงัด

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์วิจัยพบสารสกัด "ใบพญายอ" มีฤทธิ์ทำลายเชื้อโรคเริม งูสวัด ช่วยแผลตกสะเก็ด หายเร็ว ลดอาการปวด ไม่มีผลข้างเคียง เตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ อภ.ผลิตขายทดแทนนำเข้าจากต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการศึกษาวิจัยสมุนไพรพญายอ ตั้งแต่ พ.ศ.2535 โดยศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากใบเสลดพังพอน และใบพญายอต่อเชื้อโรคเริม ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่าเฮอร์ปีส์ ซิมเพลกซ์ ไวรัสชนิดที่ 2 หรือเอชเอสวี-2 เปรียบเทียบกับยามาตรฐานและกลุ่มควบคุม สารสกัดจากใบตำลึง พบว่าสารสกัดจากพญายอมีฤทธิ์ทำลายไวรัสเอชเอสวี-2 ได้ แต่สารสกัดจากใบเสลดพังพอนและใบตำลึงไม่มีฤทธิ์ดังกล่าว

"นอกจากนี้ ได้ทดลองทางคลีนิครักษาผู้ป่วยโรคเริมที่อวัยวะสืบพันธุ์ชนิดเอชเอสวี-2 ด้วยยาครีมที่พัฒนาจากสารสกัดจากใบพญายอ โดยทาบริเวณที่เป็นโรค พบว่าครีมพญายอมีประสิทธิภาพดี ทำให้แผลหายเร็วขึ้น ลดความเจ็บปวดได้ดี และครีมพญายอไม่ทำให้แสบระคายเคืองที่แผล พร้อมกันนี้ได้ทดลองทางคลีนิคกับผู้ป่วยโรคงูสวัดจากเชื้อไวรัสวาริเซลล่า ซอสเตอร์ หรือวีแซดวี ด้วยยาเดียวกัน พบว่าครีมพญายอสามารถรักษาผู้ป่วยโรคงูสวัดได้ ทำให้แผลตกสะเก็ดหายเร็ว ลดอาการปวดได้ดี และไม่พบผลข้างเคียงใดๆ จากการใช้ครีมพญายอไม่ทำให้เกิดอาการแสบระคายเคืองทาแล้วรู้สึกเย็นสบาย" นพ.มานิตกล่าว

นอกจากนี้ นพ.มานิตกล่าวว่า ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตครีมพญายอให้แก่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อผลิตออกจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรมทดแทนยารักษาโรคเริมและงูสวัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ และยังมีโครงการวิจัยสมุนไพรพญายออย่างต่อเนื่อง เพื่อคัดเลือกส่วนสกัดจากพญายอที่บริสุทธิ์ที่มีฤทธิ์เพิ่มขึ้น อีกทั้งศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสารจากพญายอ เพื่อพัฒนาเป็นยาใช้ภายในต่อไป ซึ่งจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมนโยบายการพึ่งพาตนเองด้านสาธารณสุขของประเทศ

สำหรับสมุนไพรพญายอ หรือพญาปล้องทอง เป็นพืชที่หาได้ทั่วไป แพทย์พื้นบ้านใช้รักษาโรคผิวหนังจำพวกเริมและงูสวัด โดยใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ ตำผสมเหล้าใช้ทาบ่อยๆ หรือใช้ 2-10 ใบ ขยี้หรือตำให้แหลกนำไปทา หรือพอกแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แต่ไม่สามารถใช้แก้พิษงูได้ แหล่งข้อมูล

Wednesday, March 11, 2009

คนที่มีระดับไอคิวสูงมีแนวโน้มมีชีวิตยืนยาวและสุขภาพแข็งแรงกว่า

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก และสภาวิจัยทางการแพทย์ในกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ ได้ติดตามผลกลุ่มตัวอย่าง 7,414 คนทั่วประเทศเป็นเวลา 20 ปี ในการศึกษาที่ตอกย้ำว่าสุขภาพจิตที่ดีส่งผลให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงด้วยเช่นกัน
นักวิจัยชี้ว่าเวลาในการตอบสนองของคนเราเป็นมาตรวัดระดับความเฉลียวฉลาด ซึ่งในทางกลับกันถือเป็นดัชนีบ่งชี้ความสมบูรณ์ของร่างกาย หรือการประสานงานของอวัยวะส่วนต่างๆ
“ผลการศึกษาของเราบ่งชี้ว่าเวลาในการตอบสนอง ซึ่งบ่งชี้ถึงระดับสติปัญญา เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ซึ่งรวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารอินเทลลิเจนซ์สัปดาห์นี้ ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ให้ความสำคัญกับเวลาในการตอบสนองและการเสียชีวิต โดยเปรียบเทียบกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา
ผู้จัดทำรายงานระบุว่ามีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่าคนที่มีระดับไอคิวสูงมีแนวโน้มมีชีวิตยืนยาวและสุขภาพแข็งแรงกว่า
แม้ข้อเท็จจริงนี้ส่วนหนึ่งสามารถอธิบายได้จากความแตกต่างของรูปแบบการใช้ชีวิต เนื่องจากคนฉลาดมีแนวโน้มน้อยที่จะสูบบุหรี่และน้ำหนักเกิน แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีคำอธิบายข้อแตกต่างอื่นๆ อีกหลายอย่าง
อาสาสมัครในการศึกษานี้ถูกติดตามผลมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980 โดยมีการวัดเวลาในการตอบสนองด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับหน้าจอขนาดเล็กและปุ่มตัวเลขห้าปุ่ม
อาสาสมัครต้องกดปุ่มตัวเลขให้ตรงกับตัวเลขที่ปรากฏบนหน้าจอ โดยนักวิจัยจะวัดระยะเวลาในการตอบสนองและคำนวณค่าเฉลี่ยออกมา
นับจากนั้นจนสิ้นสุดการติดตามผลพบว่าอาสาสมัครเสียชีวิต 1,289 ราย ในจำนวนนี้มีสาเหตุจากโรคหัวใจ 568 ราย
จากนั้น นักวิจัยนำเวลาในการตอบสนองของผู้ที่เสียชีวิตและผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ น้ำหนักตัว และปัจจัยอื่นๆ
ผลการศึกษาพบว่าคนที่ตอบสนองช้ามีแนวโน้มเสียชีวิตก่อนวัยด้วยสาเหตุต่างๆ เพิ่มขึ้น 2.6 เท่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเดียวที่เชื่อมโยงกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเสียชีวิต กล่าวคือทำให้อาสาสมัครมีแนวโน้มเสียชีวิตก่อนวัยเพิ่มขึ้น 3.03 เท่า
การออกกำลังกาย ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ สัดส่วนเอวและสะโพก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และดัชนีมวลกาย มีผลต่อเรื่องนี้น้อยกว่า
ในบรรดาสาเหตุต่างๆ ของการเสียชีวิต โดยเฉพาะโรคหัวใจ เวลาในการตอบสนองเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดรองจากความดันโลหิต
นักวิจัยเชื่อว่าเวลาในการตอบสนอง ซึ่งเป็นมาตรวัดความเร็วของความสามารถในการประมวลผลข้อมูลของสมอง อาจเป็นตัวบ่งชี้ระดับความสมบูรณ์ของระบบต่างๆ ในร่างกาย แหล่งข้อมูล