Tuesday, June 14, 2011

กรณีศึกษาฟินแลนด์

รายงานผลโครงการฝึกอบรมทางวิชาการด้านการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการพัฒนานวัตกรรมที่คิดค้นเองในท้องถิ่น : กรณีศึกษาของไทยและฟินแลนด์
วันที่ 23 สิงหาคม – 23 กันยายน 2553
ณ มหาวิทยาลัยแทมเปียร์(Tampere University) ประเทศฟินแลนด์

เนื้อหาสาระที่ได้จากการฝึกอบรม

1.ด้านโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่สังคมความรู้
ประเทศฟินแลนด์ใช้เวลา 30 ปีในการก้าวเข้าสู่สังคมความรู้และนวัตกรรม โดยใช้ระบบรัฐสวัสดิการ การพัฒนาระบบการศึกษาที่เน้นการพัฒนาผลสัมฤทธ์ทางการเรียนของผู้เรียน และระบบนวัตกรรมแห่งชาติในการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสังคม เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ นโยบายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาระบบงานวิจัยและพัฒนา โดยให้ทุนสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาแก่มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยจำนวนมาก เพื่อใช้ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาไปเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและการผลิต การพัฒนาด้านอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และการส่งออกที่เกิดจากทรัพย์สินทางปัญญาของคนในประเทศ จนทำให้ประเทศฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารนิวสวีคให้เป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกในปี พ.ศ. 2553 จากการจัดอันดับของ 100 ประเทศ โดยการเปรียบเทียบตัวชี้วัดทางด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านคุณภาพชีวิต ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง ในโมเดลฟินนิชตามโปรแกรมสังคมสารสนเทศ (Information Society Program) เริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมโยงเทคโนโลยีสารสนเทศเช่นเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา หลังจากนั้นจึงพัฒนาเนื้อหาสารสนเทศสำหรับการเรียน (Content production) การพัฒนาการสอนครู (teacher training) และการพัฒนาการใช้สารสนเทศของผู้ใช้บนระบบเครือข่าย
นอกจากนี้ประเทศฟินแลนด์ได้จัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมสารสนเทศ (Finnish model of the information society) ในปี พ.ศ. 2538 และ ต่อมาในปี พ.ศ. 2541ได้พัฒนาแผนกลยุทธ์ภายใต้แนวคิดของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความรู้และความสามารถทางการแข่งขัน โดยมีระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (national innovation system) เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้ประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงเป็นอันดับต้นของโลก โมเดลฟินแลนด์ได้แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงของระบบรัฐสวัสดิการกับความสามารถทางแข่งขันทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือประชากรฟินแลนด์ให้ความสนใจและมุ่งมั่นในการปรับใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีทั้งในการทำงานและในชีวิตประจำวัน โดยคำนึงถึงผลกระทบของเทคโนโลยีและการสื่อสารต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามโมเดลฟินแลนด์
จุดเด่นของการพัฒนาโครงการวิจัยในฟินแลนด์คือ การเน้นสร้างองค์ความรู้ใหม่ การเผยแพร่ผลงานวิจัย การมีระบบประเมินผลที่ดี มีข้อมูลเชิงสถิติเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ และการเชื่อมโยงงานวิจัยจากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยโครงการวิจัยขนาดใหญ่จะมีโครงการวิจัยขนาดเล็กที่เชื่อมโยงกัน แต่ละคณะในมหาวิทยาลัยจะมีผู้อำนวยการวิจัยที่เป็นผู้ประสานงานและกระตุ้นให้เกิดการสร้างงานวิจัยร่วมระหว่างสาขา แต่ละงานวิจัยจะมีหัวหน้าโครงการและนักวิจัยอยู่ในทีม ซึ่งนักวิจัยแต่ละคนจะได้รับมอบหมายงานวิจัยคนละเรื่องที่สัมพันธ์กันในกลุ่มวิจัย เรียกว่า research group จะเห็นว่าในแต่ละคณะจะมีตำแหน่งนักวิจัยจำนวนมาก ที่ทำหน้าที่ในการพัฒนางานวิจัยโดยเฉพาะ ทำให้มีบทความวิจัยที่นำลงเผยแพร่ในวารสารที่มีการอ้างอิง(impact factor)ปีละประมาณ 8,000 บทความ และมีการจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ใหม่เฉลี่ยปีละประมาณ 2,000 รายการ
ตัวอย่างของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนวัตกรรมในฟินแลนด์เช่น Aalto University เป็นการรวม 3 ศาสตร์เข้าด้วยกัน ในลักษณะการทำวิจัยร่วมกันในด้านการออกแบบและศิลปะ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านเศรษฐศาสตร์ โดยมีแผนในการก้าวเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก(world class university)ในอีก 10 ปีข้างหน้า
จะเห็นได้ว่าปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรมคือความคิดใหม่หรือความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากสารสนเทศ ความรู้ ซึ่งมีทั้งสารสนเทศทั่วไป และสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ป้อนเข้าสู่อุปกรณ์รับข้อมูลโดยมีผู้รับและผู้ส่งข้อมูล คือสารสนเทศ เพื่อให้เกิดการประมวลผลและสามารถแสดงผลออกมาตามคำสั่งที่กำหนดไว้ เช่นเดียวกับสมองของมนุษย์ การที่จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้นั้น ต้องป้อนข้อมูลที่เป็นสารสนเทศและความรู้เข้าสู่ระบบสมองเพื่อให้เกิดการประมวลผลในการสร้างความคิดใหม่หรือความรู้ใหม่ หากสารสนเทศเป็นปัจจัยนำเข้าของสังคมความรู้ นวัตกรรมก็เป็นเป้าหมายหรือผลลัพท์ของสังคมความรู้ ดังนั้นทุกประเทศจึงให้ความสำคัญกับการเป็นสังคมสารสนเทศและสังคมความรู้เช่นเดียวกับที่องค์การยูเนสโก ได้ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของสังคมสารสนเทศและความรู้ของประชาชน ไม่ให้เกิดช่องว่างทางสารสนเทศ (เช่นการมีห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ที่ดีในทุกชุมชน) และช่องว่างดิจิทัล (Digital divide) ส่วนสารสนเทศที่ป้อนเข้าสู่ระบบนวัตกรรมแห่งชาติส่วนใหญ่นั้นเป็นสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ (scientific information) ซึ่งผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา จึงจะเป็นสารสนเทศที่สามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมและการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์จึงควรจะเข้าถึงได้ง่ายอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะมีผลกระทบย้อนกลับสู่สังคม จึงกล่าวได้ว่าในสังคมสารสนเทศ สารสนเทศทางวิทยาศาสตร์เป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะ (public goods) ที่ประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญอย่างมากทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ

2.ด้านการจัดการความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
การจัดการความรู้ในที่นี้ หมายถึง กระบวนการจัดเก็บความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อคนในสังคมอย่างเป็นระบบ การจัดการระบบความรู้ การถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ และการพัฒนานวัตกรรม เพื่อมุ่งสู่การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน ส่วนภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายถึง สารสนเทศท้องถิ่นที่เป็นองค์ความรู้ของชุมชนที่ใช้การดำรงชีพและการพัฒนาสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดี
หากมีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดความรู้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและการพัฒนาเศรษฐกิจ
การจัดการความรู้ในประเทศฟินแลนด์มี 2 ส่วนคือ ส่วนที่จัดเก็บไว้ถ่ายทอดความรู้ในห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ และส่วนที่ถ่ายทอดความรู้ในระบบสารสนเทศโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ส่วนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพย์สินทางปัญญา และการแสดงพัฒนาการของภูมิปัญญาที่คนแต่ละรุ่น จะถ่ายทอดผ่านเอกสารและสิ่งของที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อการเรียนรู้ของคนในแต่ละรุ่น มีอยู่ในห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ มีสื่อการอ่านและแหล่งเรียนรู้ที่สมบูรณ์ในทุกชุมชนเช่นในห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดมหาวิทยาลัย โดยมีจำนวนผู้ใช้ห้องสมุดเปอร์เซ็นต์สูงที่สุดของโลก ร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด เฉลี่ยเข้าใช้ห้องสมุด 11 ครั้งต่อปีและยืมทรัพยากรห้องสมุดอย่างน้อย 19 รายการ จากทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุด 40 ล้านรายการ ในห้องสมุดมหาวิทยาลัย 20 แห่ง ห้องสมุดประชาชน 319 แห่ง ห้องสมุดสาขา 496 แห่ง และห้องสมุดเคลื่อนที่ 155 แห่ง และพิพิธภัณฑ์ที่แสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นมีจัดแสดงและเผยแพร่ในทุกๆเมืองที่สะท้อนความรุ่งเรืองหรือจุดเด่นของชุมชนในแต่ละด้าน รวมถึงการอนุรักษ์มรดกโลกในฟินแลนด์ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและท่องเที่ยว 7 แห่งได้แก่
• Verla Groundwood and Board Mill
• Fortress of Suomenlinna
• Petäjävesi Old Church
• Old Rauma
• Bronze Age Burial Site at Sammallahdenmäki
• Struve Geodetic Arc
• the Kvarken Archipelago
ส่วนการจัดระบบสารสนเทศที่เผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตเช่น สถิติฟินแลนด์ เป็นการรวบรวมสารสนเทศทางเศรษฐกิจในทุกๆด้านเพื่อประโยชน์ในการวิจัยและวางแผนเพื่อการพัฒนา เป็นข้อมูลที่แสดงถึงพัฒนาการของประเทศในแต่ละด้าน รวมถึงระบบสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐและการเข้าถึงสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ ถือได้ว่าการจัดการความรู้โดยการจัดการสารสนเทศในองค์การมีการจัดทำอย่างเป็นระบบ และสามารถเข้าถึงได้ง่าย ถือเป็นกระบวนการเผยแพร่ความรู้ที่ชัดเจนและทั่วถึง
การที่ประเทศฟินแลนด์ก้าวมาถึงเป้าหมายของการพัฒนาได้นั้น มาจากมรดกทางการจัดการภูมิปัญญาท้องถิ่น ยังมุ่นเน้นการอนุรักษ์และวัฒนธรรมของชาติที่มีเอกลักษณ์ ไม่ลอกเลียนแบบโมเดลการพัฒนาของชาติใด แต่ยึดมั่นในความเชื่อของการพัฒนาคุณภาพของคนตั้งแต่เกิด ได้แก่
ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง เท่าเทียมกันในทุกโรงเรียน ที่เน้นความเข้าใจในการเรียนที่นำมา ใช้งานได้ ซึ่งเกิดจากการพัฒนาคุณภาพของครู การดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ความสัมพันธ์ที่ดีของครูและผู้ปกครอง การใส่ใจในเด็กที่มีปัญหาในการเรียน การมีระบบการเรียนรู้ที่เน้นผลสัมฤทธ์หรือความเข้าใจในเนื้อหา โดยมี ตัวอย่าง เช่น
- การศึกษาของครู คนที่สอบเข้าเรียนวิชาครูเป็นกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายที่เรียนดีที่สุดที่ต้องการประกอบอาชีพครูและมีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นครู โดยรับนักศึกษาเพียงร้อยละ 10 ของผู้ที่มาสมัคร นักศึกษาเหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ความสามารถและภาวะผู้นำสูง สำหรับครูประจำชั้นในระดับประถม (class teacher) ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโท เช่นเดียวกับครูประจำวิชาในระดับมัธยม (subject teacher)
- หลักสูตรการศึกษาและยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาจะมาจากระดับชาติ โรงเรียนและองค์กรบริหารท้องถิ่นมีอำนาจความรับผิดชอบที่จะพัฒนาวิธีการสอนตามความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น ครูเลือกหนังสือเรียนและเลือกวิธีการสอนได้เอง มีการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นเพื่อปรับปรุง ด้านการสอนอย่างเป็นระบบ วิชาที่เริ่มเรียนในระดับประถม 2 ปีแรกคือคณิตศาสตร์เบื้องต้นและภาษาประจำชาติ(คือภาษาฟินนิชหรือสวีดิช) เน้นทักษะการอ่าน การเขียนและเลขคณิต เมื่อเข้าใจภาษาดีแล้วในปีที่ 3 จึงเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ชีววิทยา ภูมิศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ 1 ภาษาเช่นภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน เมื่อเรียนระดับประถทศึกษาปีที่ 5 จีงเลือกเรียนภาษาต่างประเทศได้อีก 1 ภาษา โดยเน้นทักษะความสามารถในการสื่อสารภาษาต่างประเทศ และวิชาอื่นๆตามความสนใจและความถนัดของผู้เรียน
- การสอบประเมินผลนักเรียนโดยครูประจำชั้นเป็นการประเมินสิ่งที่ผู้เรียนแต่ละคนได้เรียนรู้ตามความถนัดของตนและดูความก้าวหน้าเพื่อช่วยชี้แนะให้ผู้เรียนปรับปรุงตัวเอง มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนรับผิดชอบในการประเมินตัวเอง รู้จักตัดสินใจ และเรียนรู้ที่จะวางแผนในชีวิตของตัวเอง ว่าควรจะเรียนต่อหรือประกอบอาชีพใด ดังนั้นจึงมีการสอบมาตรฐานระดับชาติเพียงครั้งเดียวในจบชั้นมัธยมปลายซึ่งเป็นการสอบเพื่อวัดการบรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าสอบได้ตามเกณฑ์สามารถนำไปใช้ในการสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัยหรือสถาบันโปลีเทคนิค
- วัฒนธรรมการนับถือครูและให้ความสำคัญกับการศึกษา ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนสงบและมีวินัยเอื้อต่อการเรียน นักเรียนเชื่อฟังตั้งใจเรียน ครูสอนให้นักเรียนมีบทบาทในการเรียนด้วยตนเอง และส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้ริเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง โดยครูไม่มุ่งให้ผู้เรียนได้มีความรู้และทักษะพื้นฐานเท่านั้น แต่คอยส่งเสริมให้นักเรียนสนใจใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต
นอกจากนี้ยังเน้นกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถสร้างความรู้ใหม่ ในกระบวนการการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการแก้ปัญหา การค้นหาสารสนเทศ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีกระบวนการเรียนรู้ที่มีเทคนิค ดังนี้
- ทักษะการรู้สารสนเทศ (information literacy, e-Literacy หรือ transliteracy) ซึ่งเป็นความสามารถในการอ่าน การเขียน การสื่อสาร การใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในกระบวนการของการกำหนดประเด็นที่ศึกษา รู้วิธีการค้นหาสารสนเทศ รู้แหล่งข้อมูล รู้จักเลือกสารสนเทศที่ตรงกับเรื่องที่ศึกษา รู้จักประเมินผลสารสนเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ และนำมาสร้างเป็นความรู้ใหม่ การแทรกทักษะการรู้สารสนเทศในการปฐมนิเทศนักศึกษาและหลักสูตรวิชาการสัมมนาในทุกสาขาวิชา โดยมีแบบทดสอบทักษะการรู้สารสนเทศ (Information literacy proficiency tests) ที่พัฒนาโดยแต่ละมหาวิทยาลัย
- การสอนแบบตั้งคำถาม (inquiry-based learning) ในการสอนทักษะการรู้สารสนเทศ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนใจที่จะหาคำตอบ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เป็นการสอนที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนหาคำตอบเอง จากการค้นคว้า การอ่าน และการเขียนตามความเข้าใจ และมีการทดสอบผ่านการเขียนที่เรียกว่าการเขียนจากการอ่านหนังสือ (literature exam) ทั้งนี้ทักษะการรู้สารสนเทศ ซึ่งรวมถึงทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) มีความหมายกว้างกว่าทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ict skill)
- การสอนและการสร้างกระบวนการเรียนรู้โดยครู มีความสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน การสร้างเครื่องมือทางเทคโนโลยีเป็นส่วนสนับสนุนความเข้าใจในการเรียนและกระตุ้นความสนใจในการเรียน ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ศึกษาความสมดุลย์ระหว่างการสอนของครูและการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีในการสร้างความรู้ใหม่ของผู้เรียน
3.ด้านเครือข่ายความร่วมมือ
ประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือในทุกด้าน เช่นเครือข่ายความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยที่มีนักวิจัยทำงานร่วมกันจำนวนมาก ทำให้การนำผลการวิจัยไปสู่ภาคปฏิบัติทำได้จริงและเป็นรูปธรรม เช่นตัวอย่างของการวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัยกับบริษัทโนเกียในการพัฒนาเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
จากการไปเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมทางวิชาการครั้งนี้ ภาควิชาสารสนเทศศึกษาของมหาวิทยาลัยแทมเปียร์ ได้มีหนังสือยินดีร่วมมือในการให้คณาจารย์และนักศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตมาทำวิจัยระยะสั้น และความร่วมมือในการให้คำปรึกษาด้านการวิจัยด้านสารสนเทศศาสตร์แก่นักศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตของแขนงสารสนเทศศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

รายงานสรุป โดย น้ำทิพย์ วิภาวิน